
ภาพกรุงเทพฯ ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอาคารสูง และมีพื้นที่สีเขียวเบาบาง บีบให้วิถีชีวิตของคนกรุงฯ ดูเหมือนจะมีทางเลือกไม่มากนัก จนกลายเป็นผู้ใช้พลังงานเกินความจำเป็น และเป็นผู้ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกในปริมาณมากโดยไม่รู้ตัว แต่วิถีชีวิตคนกรุงฯ เปลี่ยนแปลงได้ เพียงแค่คนกรุงฯ หันไปหาทางเลือกใหม่ๆ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
ในงานเสวนา “ชวนคิดชีวิตคนกรุงฯ” เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ณ โถงหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ นางสาวฝ้ายคำ หาญณรงค์ ผู้ประสานงาน คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม, นางสาวปณัฐพรรณ ลัดดากลม สถาปนิกและนักผังเมืองเพื่อชุมชนสถาบันอาศรมศิลป์, นางสาวนนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล ผู้ก่อตั้ง bangkok bicycle campaign และนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการกินเปลี่ยนโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ในมุมมองต่างๆ สู่การเปลี่ยนแปลง “วิถีคนกรุงฯ ที่ยั่งยืน” ด้วยการจัดการมนุษย์ สิ่งก่อสร้าง และธรรมชาติ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
นางสาวฝ้ายคำกล่าวว่า อัตราการใช้พลังงานของคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ จากประชากรกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณกว่า 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรไทย แต่มีรถที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ ประมาณร้อยละ 24 ของจำนวนรถยนต์รวม ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ทั้งประเทศ 34 ล้านคัน เฉพาะรถที่จดทะเบียนในปี 2556 พบว่าทั้งประเทศมีรถจดทะเบียน 3.4 ล้านคัน ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นของคนกรุงเทพฯ ฉะนั้น แค่การใช้พลังงานของรถยนต์ของคนกรุงเทพฯ ก็สูงมากแล้ว