ปลูกความหลากหลายให้งอกงาม

ตอนที่ 15 ไปป่าคู้ล่าง (2)

แชร์

62

62

ก่อนฟ้าสาง ฉันตื่นขึ้นมาฟังเสียงน้ำค้างหยดลงหลังคาสังกะสี โดยมีเสียงสารพัดร้องนกแว่วเจื้อยแจ้วไม่ขายสาย

อากาศข้างนอกถุงนอนกำลังเย็นสดชื่น เสียงความเคลื่อนไหวของใครอีกหลายทำให้ฉันตัดสินใจเดินไปสมทบตรงเส้นทางที่ทอดตัวสู่หมู่บ้าน

ใต้ต้นมะกอกป่าหลังบ้านเป็นจุดรวมหมู่เพื่อพาพวกเราเดินสู่แปลงผักอินทรีย์ แปลงปลูกผักที่คนปลูกไม่ต้องแยกปลูกเพื่อกินและเพื่อขายอย่างในอีกหลายที่

ระหว่างที่พวกเรากลุ่มที่ 1 เดินตามหลังเสวก ซึ่งเป็น 1 ใน 9 คนที่เริ่มทำมาตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อน คุณติ่งเล่าให้พวกเราฟังว่าเมื่อ 2 ปีก่อนแล้วคุณติ่งเคยมาที่นี่ ความรู้สึกดีๆ ที่คุณติ่งว่า ?พบแล้ว? กับสิ่งที่ตนเองค้นหา ที่มีมากกว่าผักปลอดสาร แต่เหมือนว่ามา ?พบญาติ? ทีเดียว

ทางแคบๆ ที่ทำให้พวกเราเดินเรียงเดี่ยวเป็นแถว ทำให้ฉันไม่ได้เห็นสีหน้าของคนพูด แต่น้ำเสียงนั้นสดชื่นไม่แพ้บรรยากาศโดยรอบ ลำแดดอ่อนๆ เริ่มแผ่ปกคลุม แล้วคุณติ่งก็เล่าขำให้ฟังเรื่องที่เพื่อนๆ ที่ทำงานวิพากษ์วิจารณ์กับความพยายามของเขาในการที่จะหิ้วปิ่นโตที่มีความหมายมากกว่าสุขภาพและความประหยัดไปที่กินกลางวันในที่ทำงาน กับคำถามทิ้งท้ายในใจฉัน เรามีชีวิตอยู่เพื่อให้คนมองหรือเราควรมองชีวิตต่อเรื่องที่เราทำอย่างไร?

ไปป่าคู้

ราว 10 นาทีจากใต้ต้นมะกอก เราถึงแปลงผักแปลงแรก ที่มีสารพัดผักใบที่เหมาะกับการปลูกได้ในช่วงอากาศเย็นๆ แบบนี้ ทั้งกะหล่ำปลี คะน้า กวางตุ้ง ลุ้ย แครรอท โดยที่มีผักพื้นบ้านอื่นๆ แทรก และแอบอยู่ตามมุมต่างๆ ของแปลง

เชอรี่แจกตะกร้าและมีดให้พวกเราตัดผักกลับบ้านตามจำนวนที่ต้องการ ซึ่งช่วงนี้เองที่ชาวบ้านต้องตอบคำถามมากมายของพวกเรา อย่าง ?(ลุ้ย) ต้นนี้โตพอตัดได้หรือยัง? ?(บล็อกโคลี่) มันจะโตกว่านี้อีกไหม? สลับกับ ?หูย! ดูนั่น หัวไชเท้า? ?นี่ๆ ! นี่ต้นอะไร? โดยที่ทั้งคนถามคนตอบก็ถามตอบกันแบบยิ้มไป เพลินไป

ข้าวหลามเมื่อคืนเป็นเสบียงรองท้องแจกใต้ร่มมะกอก และโดยอาศัยความชุ่มชื่นคอจากลูกมะกอกสุก ทำให้เกือบ 2 ชั่วโมงที่เราเพลินไปกับการเดินแปลงและตัดผักผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว จนกลับมาถึงที่กลางลานอีกที เรามีขนุนลูกใหญ่เนื้อหวานนุ่มเหนียว กับกล้วยน้ำว้าเครือใหญ่รองท้อง

กำลังเพลินกับจากขนุนกับกล้วย สาวๆ เจ้าบ้านก็ลำเลียงจานผักสลัดอินทรีย์สดๆ พร้อมน้ำสลัดฟักทอง และน้ำสลัดไข่ไก่สุก และข้าวต้มถั่ว 5 สีเห็ด 3 อย่าง มาวางรอ

ยังไม่ทันจบมื้อเช้าด้วยสลัดและข้าวต้ม เสียงตุ๊บๆ หนักๆ ดังอยู่ใกล้ๆ นั้นดังขึ้น จากนั้นก็ได้กลิ่นหอมโชยมาตามต้นกำเนิดของเสียง หนุ่มๆ เจ้าบ้านกำลังตำงาคั่ว เป็นงาหอมที่พวกเขาเพิ่งได้พันธุ์ดีมาปลูกจากเพื่อที่ทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าน ฉันนึกย้อนไปถึงต้นงาหอมในแปลงผักเมื่อเช้าที่ไม่ใช่หอมแค่เมล็ด แต่ใบมันก็หอมรื่น เหมาะสำหรับการจะขอลองนำเมล็ดไปปลูกเพื่อทำสปาที่บ้าน

grow15_3
grow15_7
grow15_10

เมล็ดพันธุ์ที่หลากหลาย ยังคงมีอยู่ให้ได้กินได้ใช้ด้วยการขอ แลก บ่งปันเอาไปทดลองปลูก ทดลองกินแบบนี้เอง

พี่เสวกเองก็พยายามที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ผักที่สมาชิกชอบกิน แต่เมล็ดพันธุ์ผักที่เขาเก็บและปลูกได้เองเห็นจะมีแต่กวางตุ้ง ผักสลัด กับผักพื้นบ้านในพืชผักดั้งเดิมในไร่หมุนเวียน พวกบวบเหลี่ยม กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า มะระจีน และ ฯลฯ ก็ยังต้องซื้อเมล็ด

อิ่มมื้อเช้าแล้ว พี่เจนแจ้งว่า พี่แป๋งและพี่โหน่ง เจ้าของผลิตภัณฑ์สบู่และแชมพูอินทรีย์ ?ในสวน? จากราชบุรี จะมาสาธิตการทำแชมพูมะกรูดใช้เองให้พวกเราได้ทดลองกลับไปทำเองที่บ้าน แล้วต่อด้วยครอบครัว ?กาหลง? เจ้าของผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ?ไร่ดินดีใจ? ที่อยู่อุทัย จะมาบอกเล่าวิธีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และวิธีการทำถั่วงอกและแป้งถั่วเขียวอินทรีย์พร้อมสรรพคุณ ที่ทีมกินเปลี่ยนโลกได้เตลิดไปเยี่ยมมาแล้วถึงที่หนองขาหย่าง ซึ่งฉันจะขอยกไปไว้ตอนหน้า

grow15_4
grow15_5
grow15_6

การสาธิตจบลง เมนูมื้อกลางวันก็เข้ามาแทน

ต้มปลาใส่ผลมะตาด หยวกกล้วยผัดหมูสับ มะละกอผัดกับไก่ กับซุปแบบชาวโปวมักใส่ข้าวให้ข้นและรสนุ่มนวล รวมทั้งปลาร้าสับที่หมักจากเนื้อเม่น และผักแนมทั้งสดและสุกวางรอเราอยู่

ทั้งๆ ที่เพิ่งเติมกำลังกันไปหมาดๆ แต่ดูพี่แป๋งจะตำข้าวเหนียวเพื่อทำหมี่สิ* ไม่ไหว จึงส่งต่อให้หนุ่มๆ เจ้าบ้าน ขณะที่พวกเขาทำไป คุยไป เราเลยรู้ไต๋ว่า ปกติแล้ว การทำข้าวหมี่สิ ซึ่งต้องตำข้าวเหนียวใหม่ๆ ที่เพิ่งเกี่ยวได้จากไร่แล้วหุงสุกร้อนๆ ให้มีเนื้อเนียนละเอียดเคล้ากันไปกับงาคั่วบดแล้วและเกลือ จึงกินกับน้ำตาลรำแดงหรือน้ำผึ้งร้อนๆ ใหม่ๆ

แล้วแสนอร่อยนี้เป็นงานของสาวๆ

grow15_8
grow15_9
grow15_11

พี่เก๋อิ่มแล้วและกำลังเพลินกับการนวดเฟ้นของกาญจน์ หมอพื้นบ้านที่ขี่มอเตอร์ไซต์มาไกลจากบ้านราว 200 กม.มาสมทบตั้งแต่เมื่อวานเย็น พอพ้นมือหมอนวดก็ทำการโฆษณา จนฉันและพี่พยงค์ต้องต่อคิวรอ

ข้าวกลางวันกำลังเรียงเม็ดในท้องตึงๆ เราจึงค่อยขยับลงมาที่ลานเพื่อนั่งพูดคุยกันเพื่อเปิดใจรับรู้ในปัญหาระหว่างสมาชิก คนกิน คนปลูก และคนรณรงค์

grow15_12
grow15_13
grow15_15

จากวงสนทนาทำให้เราเข้าใจได้มากยิ่งขึ้นว่าโครงการผักประสานใจ ไปไกลกว่าการปลูกผัก ? ขายผัก อินทรีย์ ซึ่งอยากชวนคุณผู้อ่านได้ฟังเสียงสดๆ แบบไม่ตัดไม่ต่อจากคนกินคนปลูกในโครงการนี้โดยตรงจากคลิ๊ปที่เอามาฝากข้างท้ายนี้

หมี่ แปลว่าข้าว หมี่สิหรือชาวเหนือเรียกขนมที่ทำในลักษณะนี้ว่าข้าวแดกงา

คลิ๊ป

เรื่องโดย

บุญตา วนานนท์

นักคิด นักเขียนที่สนใจ อาหาร เกษตร สิ่งแวดล้อม