ร้านอาหาร

ตอนที่ 29 กินอาหาร – ดูหนัง แล้วตั้งคำถาม เรื่องอยู่เรื่องกินในภาพยนตร์

แชร์

214

214

วันสุดท้ายของเทศกาลดูหนังแล้วเสวนา “กินแหนงแคลงใจ” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการเปิดฉายหนังสั้นชุด Good Food ที่ผลิตโดย Media That Matters Film Festival  2 เรื่อง คือ ‘Inch by Inch: Providence Youth Gardens for Change’ และ ‘The Meatrix’ ตามด้วยภาพยนตร์จากญี่ปุ่น ‘Flavor of Happiness’ เรื่องราวของหญิงม่ายชาวญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาชีวิต และพบหนทางแห่งความสุขได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับอาหารจีน แม้ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นและจีนดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด  ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เรียกเสียงปรบมือดังลั่นห้องฉายหนังก่อนที่จะเริ่มการเสวนา โดยมีคุณภาสกร อินทุมาร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล มาชวนคนในแวดวงหนังสั้นและภาพยนตร์เสวนา 3 ท่าน คือ  คุณไกรวุฒิ จุลพงศธร นักเขียนและนักวิจารณ์หนัง  คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต มูลนิธิหนังไทย และบรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป คุณสุภาพ หริมเทพาธิป

วงเสวนาได้พาไปสำรวจความเหมือนกันของหนัง-อาหาร และตั้งคำถามกลับกับผู้ร่วมฟังได้ขบคิดต่ออย่างสนุกสนาน ในหัวข้อ “เรื่องอยู่เรื่องกินในภาพยนตร์”

gd29-19
gd29-20
gd29-21

อาหารในหนังไทยไปไกล “ชาตินิยม” ได้หรือเปล่า?

คุณไกรวุฒิ เกริ่นนำว่า ทั้งหนังและอาหาร  เราสามารถเลือกเสพได้ทั้งแบบลำพังตัวคนเดียว หรือแบบหมู่คณะ และนำไปสู่ความเป็นชุมชน  ทั้ง 2 อย่างนี้ มีระบบการผลิตที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  จนกระทั่งในยุค 1980 ซึ่งเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ Globolization ได้ การเข้าถึงอาหารที่ผลิตในระบบโรงงานได้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีหนังเกี่ยวกับอาหารมากมายในยุคนี้ คนทำหนังเริ่มออกสำรวจอุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่ในการทำอาหารที่หลากหลาย  เริ่มมีกระแส National Food – National cinema  โดยเน้นให้เห็นความสำคัญของอาหารประจำชาติ การกินอาหารแบบเก่าและความสัมพันธ์ของการกินอาหารภายในครอบครัว การกินอาหารจากมือแม่ มือปู่ และการทำนุบำรุงให้อาหารของเรายังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

“หนังไทยเวลาพูดเรื่องอาหาร เราจะใส่อุดมการณ์ประจำชาติเข้าไป ว่ามันสุดยอดที่สุด ขณะที่หนัง ‘a Flavor of Happiness’ ที่เพิ่งดูจบไปนั้นมันเกิดขึ้นได้กับหนังไทยของเราไหม?” คุณไกรวุฒิ ได้ให้ตั้งข้อสังเกต

“อาหารแต่ละอย่างกว่าจะออกมา หรือใครก็ตามที่ทำอาหารมันมีขั้นตอนเยอะมาก มันทำให้เราสนใจเรื่องของกระบวนการ มันไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้องส่งเสริมความเป็นไทย ต้องไทย-ไทย อย่างเดียว มันกระตุ้นตรงนั้นได้”   คุณชลิดาอิงไปถึง ‘Julie & Julia’ หนังที่สร้างความตื่นตาตื่นใจกับกระบวนการปรุงอาหารฝรั่งเศสที่มีขั้นตอนมากมาย

gd29-18

ถ้าเป็นอาหารในหนังต้อง “ไม่ธรรมดา” !?

คุณชลิดา  ยังได้ตั้งข้อสังเกตการปรากฏตัวของอาหารในหนังไทยว่าไม่ค่อยมี  หรือถ้ามีมันก็จะถูกทำให้ exotic หรือผิดธรรมดาไป หรือเน้นอารมณ์โหยหาอดีต ทั้งๆที่รสชาติและรูปแบบการอาหารเหล่านั้นช่างแสนธรรมดามากในชีวิตวัยเด็ก  ซึ่งก็ดีที่คนได้กลับมาทบทวน แต่ขณะเดียวกัน ของเหล่านี้ถูกทำให้สนใจเพราะเป็นของประหลาด  อาจเพราะในหนังไทยทั่วๆ ไปไม่ค่อยนำเสนอเกี่ยวกับวิถีชีวิต แต่มักนำเสนอเหตุการณ์เรื่องราวเกิดขึ้นที่ผิดจากธรรมดา

“ก็มี ‘สุดเสน่หา’ ที่เขากินสับปะรดกัน  ซึ่งดูแล้วก็เออ… อยากกินสับปะรดจากฉากที่เขาไปปิกนิกกัน  ส่วนนักเรียนต่างชาติที่เข้าฝึกมาทำหนังในเมืองไทยเขาจะพยายามผนวกการกินเข้าไป มันมีเสน่ห์และประหลาดสำหรับเขา บางทีก็ใส่ผิดๆ ถูกๆ ลงไป ถ้าเขาไม่ research มากพอ”

หนีความธรรมดา ไปสู่การเหนือความคาดหมาย!!

คุณไกรวุฒิชี้ให้เห็นข้อท้าทายของคนทำหนังที่มีฉากอาหารอย่าง ‘Agrarian Utopia’ ว่า

“อุรุพงษ์ คนทำหนังเรื่องนี้ไปอยู่ในนานานปีกว่า   เหมือนทุกคนคาดหวังว่าเขาจะนำเสนอภาพการกินแบบเรียบง่าย แต่ภาพการนำเสนอการกินสิ่งแปลกประหลาดเหล่านั้นกลับวิจิตรมากในแดนอุดมคติ  ซึ่งวิธีการนำเสนอแบบนี้อาจจะผิดไปจากการคาดหวังของคน แต่ก็ดีเพราะทำให้เกิดข้อถกเถียงกัน”

gd29-1
gd29-3
gd29-4
gd29-5

“ไม่ธรรมดา แต่ว่า สำเร็จรูป” !?

ในแง่ ‘ธรรมดา’ ของอาหารที่ยังไม่ค่อยปรากฏในหนังไทยนั้น  คุณสุภาพ มองว่าอาจจะเป็นเพราะเราต้องการคำตอบสำเร็จรูปจากการเสพหรือเปล่า?

“หนังไทยก็พยายามจะทำเป็นระบบสตูดิโอ อาหารการกินก็พยายามจะยัดเยียดเป็นอุตสาหกรรมอาหารอย่าง ‘โอเคเบตง’ ตอนเปิดเรื่องมีฉากทำอาหารเหมือนโฆษณาดูงดงามมาก เรื่องการกินที่สะท้อนชีวิตจริงๆ และทำให้คนดูดูแล้วเก็บประสบการณ์จากในหนังแล้วเอามาคิดกับตัวเองไม่ค่อยมี เพราะว่าเราคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา  แต่ถ้าหากเรามองดูการกินของแต่ละคนแต่ละครอบครัวจริงๆ มันไม่เหมือนกัน ทุกคนจะมองว่าอาหารมือแม่อร่อยที่สุด แต่ไม่ค่อยมองว่าที่อร่อยที่สุดของคนอื่นๆ มันประกอบไปด้วยอะไร ยังไงบ้าง แล้วมันมีเงื่อนไขอะไร  แล้วมันทำให้เราคิดกับตัวเองได้ยังไง

gd29-2
gd29-10
gd29-11

ใครกำหนดรสนิยม หนัง-อาหาร!?

สำหรับชลิดา วิวัฒนาการของรสชาติของหนังเหมือนก็กับรสชาติของอาหารในยุค Globalization ว่า มาก หลากหลาย ก็จริงแต่ของแท้นั้นหาได้ยาก เช่นเดียวกันกับแวดวงการทำหนังกลุ่มธุรกิจหนังมีการคุยกันว่า เขาอยากจะจบหนังเขาที่แค่นี้ แต่เมื่อลองสอบถามสายหนัง คนที่มีผลต่อการซื้อหนังฉายหนังก็จะบอกว่ามันยังไม่ตอบคนดูว่าหนังจะพูดอะไร  อย่าง ‘รถไฟฟ้าฯ’ ก็ต้องมีฉากตอนจบเป็นบทสรุปของตัวเอก หรือบทสรุปของ ‘สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก’ ซึ่งถ้าไม่มีส่วนนี้ตัวเลขจะหายไปประมาณ 25 %

“ทำไมเราถึงไม่สามารถทำหนังที่บอกแค่นี้พอแล้วอนาคตของตัวละครมันเป็นไงก็ปล่อยให้มันเป็นไป ให้มันแล้วแต่คุณจะคิด  สาเหตุที่ต้องทำบทสรุปก็ทำให้คิดต่อว่าเพราะอะไร? หรือเพราะว่าส่วนที่เราไม่ได้บอกแต่พวกที่เซ็นเซอร์หนังมันคิดแล้วต่างจากเราแล้วไม่ปล่อยให้หนังออกฉายก็เลยต้องทำส่วนที่เป็นบทสรุปของหนังเรื่องนั้นขึ้นมา”

“ทุกคนต้องปรับตัวว่าหนังต้องประมาณนี้จึงจะได้ฉาย  หลายอย่างก็เหมือนหลอกตัวเอง หลอกฝรั่งเสร็จก็หลอกตัวเองต่อเพราะเมื่อก่อนเรายังรู้จัก อาหารเหนือ อาหารใต้ อาหารอีสาน แต่ตอนนี้ถูกเหมารวมกันหมดว่าเป็นอาหารไทย  ยิ่งทำให้มั่วๆ งงๆ เข้าไปใหญ่ แล้วตีขลุมว่า ‘ไทย – ไทย’  แต่ความแท้ก็จะไม่รู้อยู่ตรงไหน  แกงก็จะหวานขึ้นเพราะฝรั่งไม่กินเผ็ด ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ ‘กูรู’ ว่า ‘อร่อยมาก’ ก็จะเป็นแกงที่หวานมาก แล้วก็ไม่มีใครกล้าออกมายืนยันว่ามันไม่อร่อย”

gd29-6
gd29-7
gd29-8
gd29-9

หนัง – อาหาร กำหนดตำแหน่งแห่งที่คนเสพ

ด้านคุณไกรวุฒิ  เล่าว่า หนังข่าวสั้นก่อนฉายภาพยนตร์ในยุคที่อังกฤษมีเครื่องมือสื่อสารคือวิทยุและหนังโดยที่ยังไม่มีโทรทัศน์ยุคสงครามโลกนั้น  นำเสนอภาพของประชาชนแห่มากินอาหารกันในโรงอาหาร สร้างให้กลายเป็นกระแสกินกันเป็น Community ทั่วทั้งอังกฤษ ตามนโยบายหลักคือการแบ่งอาหารเพื่อควบคุมอาหาร  หนังข่าวสั้นทำให้คนอังกฤษเชื่อว่าโดยวิธีกินแบบรวมหมู่นี้คือความเป็นอังกฤษที่จะพาให้ประเทศชาติผ่านยุคแห่งความวิกฤติไปได้  ซึ่งคล้ายกับ ‘King’s Speech’ ที่กำลังจะฉาย  หรือในหนังอเมริกา-ยุโรปเมื่อไม่นานมานี้ อย่าง ‘Eat Play love’ ซึ่งตัวละครเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ไปเรียนรู้เรื่องของอาหารที่เชื่อมโยงคนเข้าด้วยกันด้วยความรู้สึกดี  แต่มันกลายเป็นภาพที่ออกแบบเพื่อชนชั้นกลางในอเมริกาหรือยุโรปที่ตื่นเต้นกับอาหารในโรงแรม อาหารของกุ๊กสุดยอด ภาพอาหารถูกออกแบบเพื่อจะทะนุบำรุงความเป็นอาหารของชนชั้นกลางด้วยกันเพื่อที่จะบอกว่าฉันมีอะไร วัฒนธรรม องค์ความรู้ ไม่มีภาพตัวละครชนชั้นล่าง หรือ romanticize  ว่าอาหารชนชั้นล่างมันงดงามมาก   และเมื่อกลับมาดูการนำเสนออาหารของไทยของ ททท. ซึ่งจะเร้าความวิจิตรบรรจงของอาหารก็เป็นความพยายามที่จะกำกับให้พวกเรารู้สึกถึงความเป็นไทยในทิศทางนั้นโดยไม่รู้ตัว  ซึ่งเป็น sense  ของกระทรวงวัฒนธรรมที่เชิดชูความเป็นไทยที่กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้เลือกสรรเองว่าอะไรคือความเป็นไทย

gd29-12
gd29-13
gd29-15

สังคมแห่งความกลัว ยากจะมี Food Inc. ภาคประเทศไทย !!

คุณสุภาพ  ได้ฉายให้เห็นข้อจำกัดของการทำที่สะท้อนปัญหาการผลิตอาหาร อย่าง ‘Fast Food Nation’ หรือ ‘Food Inc.’ ในเมืองไทยว่า แม้หนังเหล่านี้ได้พูดออกมาสู่สังคมก็จะทำให้คนได้หูตากว้างขึ้น ได้รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วคนดูก็ได้เลือก ส่วนจะเลือกแบบไหนก็เรื่องของคุณ  อย่างน้อยได้รู้ว่าไอ้สิ่งที่คุณจะกินนั้นคืออะไร  แต่บ้านเราคงเกิดหนังแบบนี้ได้ยากเพราะมันถูกครอบงำด้วยความกลัวจนเกินไป แม้แต่ตัวเองที่ได้มีโอกาคุยกับคนเลี้ยงไก่ก็ยากทำหนังสะท้อนออกมาแต่ก็กลัวถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นล้าน

“สิ่งที่ต้องการมากที่สุดก็คือทำยังไงให้คนผลิตอาหารหรือหนัง ไม่ถูกครอบงำด้วยเงื่อนไขอะไรไม่รู้ที่เขาจำเป็นต้องเบี่ยงเบนความเชื่อของตัวเอง  อย่างทำอาหารขายแบบนี้แต่สุดท้ายไม่รอด หรืออยากจะทำหนังแบบนี้ก็ไม่รอด พอไม่รอดต้องไปพึ่งพิงแล้วมีเงื่อนไขอื่นที่จะทำให้ความเชื่อในตัวเองเบื้องต้นที่จะทำมันเปลี่ยนไป  สุดท้ายมันจะไม่ไปไหน  หนังมันก็จะเหมือนกันไปหมด อาหารก็จะรสเดียวกันไปหมด”

gd29-14
gd29-16

เลือกเสพ หนัง- อาหาร ยังไงไม่ตกหลุม

ในกระแสการผลิตและบริโภค อาหาร หรือหนัง ในยุคปัจจุบัน ที่เน้น mass product โดยมีกลุ่มลูกค้าที่ยอมจ่ายเงินเพื่อเสพนั้น รสนิยมในเรื่องความแท้ และอร่อยของอาหาร ได้เปลี่ยนไปตามสภาพวิถีชีวิตจริงในปัจจุบันที่เราก็กินอาหารกันใน Food Center ของห้างต่างๆ   คุณชลิดา ตั้งคำถามกลับที่น่าสนใจว่า พวกเราที่มาร่วมเสวนาอาจจะเป็น generation ท้ายๆ หรือเปล่าที่จะมีประสบการณ์การกินที่พอจะจำแนกได้ว่าอันไหนอร่อย อันไหนแท้ จำแนกความแตกต่างของอาหารพื้นถิ่นของภูมิภาคต่างๆ ได้?

“เราไม่ได้ไม่ชอบหนัง Hollywood ก็ดูได้ แต่บางวันเราก็อยากดูหนัง เราไม่ได้เหยียดหนังอาร์ต  มันเหมือนอาหารที่วันนี้เราอยากกินฟาสต์ฟู้ดส์บ้าง กินแฮมเบอร์เกอร์ ก็มีรสชาติที่ต่างกัน แต่จะหน้าตกใจถ้าคนไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของมันได้ ก็ต้องช่วยกันคิดว่าเราจะเก็บและแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้ได้ยังไง

ก่อนจะจบการเสวนา คุณไกรวุฒิยังได้ยกตัวอย่างหนังโฆษณา ‘ค้าบุญ’ เทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมอาหารข้ามชาติ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการตัดสินใจเลือกซื้อ และซื้อแพงกว่าอีกหลายเท่าตัว ซึ่งหลุมพรางเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่ากลัว

“ ‘ทุกครั้งที่คุณซื้อกาแฟทุกแก้วของเขาแล้ว คุณไม่ได้ซื้อเฉพาะกาแฟแต่นำไปสู่รองเท้าคู่หนึ่งของเด็กโซมาเลีย’ แล้วบริษัทกาแฟข้ามชาตินี้มันต้องการให้เด็กโซมาเลียจนไปเรื่อยๆใช่หรือเปล่า?

เรื่องโดย

บุญตา วนานนท์

นักคิด นักเขียนที่สนใจ อาหาร เกษตร สิ่งแวดล้อม