ตอน 26 – แมลงที่รัก
แชร์
201
แชร์
201
201
ปัญหาของคนปลูกผัก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกเพื่อกินเองในบ้านหรือปลูกขายก็คือ โรค และแมลงที่มารบกวนต้นผักนั่นเอง ท่านที่เริ่มปลูกผักอินทรีย์กินเองก็อาจจะกำลังหาทางออกกับปัญหานี้
ในวันเปิดตลาดนัดสีเขียวในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รังสิต นั้นมีบู้ทเรียนรู้ชีวิตแมลงของลุงเทพ เกษตรกรผู้ปลูกผักผสมผสาน เจ้าของ “ศูนย์พัฒนาถ่ายทอดการเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อมและนิเวศน์ที่ยั่งยืน” จากบ้านระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ที่จำลองการเรียนรู้แมลงมาให้ผู้สนใจได้เรียนรู้และเชื่อมั่นในวิถีการผลิตที่ปลอดสารเคมีนั้นทำได้จริงๆ
ก่อนหน้านี้ 12 ปี ความรู้เรื่องการจัดการแมลงแบบทางเลือก (Alternative Pest Management : APM) ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้ด้านนิเวศเกษตรมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเกษตรกรที่ต้องการเลิกใช้สารเคมีการเกษตรอย่างเด็ดขาดนั้นถือว่าเป็นความรู้ที่อยู่ในวงจำกัดสำหรับผู้ที่สนใจใคร่รู้และปฏิบัติกันอย่างจริงๆ ขณะที่กระแสของการจัดการแมลงแบบผสมสาน (Integrated Pest Management : IPM) ซึ่งนำวิทยาการควบคุมแมลงอย่างหลากหลายแต่สุดท้ายก็ยังอนุญาตให้ใช้สารเคมีกำจัดแมลงได้ในตอนท้ายเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขว่ามีการแพร่ระบาดจนเกินควบคุมได้ยังคงเป็นกระแสที่นักวิชาการเกษตรสมัยใหม่ทั่วไปส่งเสริมให้เกษตรกรใช้
เรียกได้ว่า APM นั้นหักดิบ ส่วน IPM นั้นเป็นการอดยา(ฆ่าแมลง)โดยสมัครใจ
ผลิตภัณฑ์ที่มาจากแปลงเกษตรในระบบ APM นั้นมีโอกาสพัฒนาไปสู่มาตรฐาน “สินค้าเกษตรอินทรีย์” ได้ในเบื้องปลายของเป้าหมาย ส่วน IPM นั้นได้แต่อยู่ใน quite list ของสินค้าปลอดภัยสารเคมีการเกษตร เพราะเมื่อจะต้องเก็บเกี่ยวออกจำหน่าย ต้องผ่านระยะเวลาในการฉีดพ่นที่เป็นอันตรายไปแล้วเสียก่อน
ขั้นตอนของการควบคุมแมลงแบบ IPM กับ APM หากดูเผินๆ แล้วเหมือนจะเหมือนกันในเบื้องต้นแล้วแตกแขนงออกเป็น 2 เส้นในตอนท้าย คือตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเมื่อมีการแพร่ระบาดของแมลงรุนแรง หากแท้จริงแล้วแก่นแกนของความคิดที่แตกต่างของทั้งสองนั้นมีต่างกันอย่างสุดขั้ว
ระบบการจัดการแบบ IPM นั้นเน้นการดูชนิดและจำนวนแมลงศัตรูพืชและแมลงที่รัก ให้อยู่ในสมดุล โดยมีตัวช่วยทางเทคนิค เช่น แถบล่อแมลง สมุนไพรกำจัดแมลง เขตกรรม การปลูกพืชผสมสานและพืชหมุนเวียน การเพิ่มแมลงที่รัก และจุลินทรีย์ชีวภาพเพื่อควบคุมโรคแมลง และอนุญาตให้ใช้ปุ๋ยเคมีได้ในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งฉีดพ่นสารฆ่าแมลงได้เมื่อแมลงศัตรูพืชระบาดมาก จนนักเกษตรอินทรีย์หลายคนค่อนขอดในใจว่ายังไงก็เข้าไปสู่ loop ของการใช้สารเคมีแบบยั่งยืนอยู่ดี
ส่วน APM นั้นเชื่อมั่นในสมดุลของสรรพชีวิตในระบบนิเวศเกษตร โดยเน้นบทบาทสำคัญของสิ่งมีชีวิตทั้งที่อยู่ในดิน ตัวพืชผักที่ปลูก ผลผลิต และ สิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวโยงกับพืชผักเหล่านั้น
พืชผักที่ปลูกจะมีความแข็งแรงสมบูรณ์และให้ผลผลิตที่ดีได้นั้น ต้องอาศัยการมีผืนดินอุดมสมบูรณ์และมีสมดุลให้หยั่งราก แม้พืชผักที่ปลูกนั้นจะถูกโรคแมลงรบกวนบ้างก็เป็นเพียงส่วนน้อย และใช้วิธีการต่างๆ เช่น การเขตกรรม การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชสลับและหลากหลาย การปลูกพืชล่อ-ไล่แมลง และสมุนไพรควบคุมแมลงเมื่อมีการแพร่ระบาด
การฝึกสังเกต และทำความรู้จักพฤติกรรมของแมลงในระบบนิเวศน์เกษตร ซึ่งมีทั้งแมลงที่เป็นศัตรูพืช (กัดกินและพาหะนำโรค) กับแมลงที่เป็นตัวดี แมลงที่รักเหล่านี้จะมีพฤติกรรมคอยควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งมี 2 ประเภท คือทั้งชนิดที่เป็นตัวห้ำ (ล่า – จับกิน) และตัวเบียน (คอยรบกวนการมีชีวิตของแมลงศัตรูพืช) จึงเป็นเพียงความรู้ขั้นพื้นฐานที่จะนำนักการเกษตรและเกษตรเข้าไปเรียนรู้สมดุลของธรรมชาติเหนือผืนดินรอบๆ พืชผักที่ปลูก
ลุงเทพ – ประธานกลุ่มเกษตรปลอดสารเคมี ต.ระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และเจ้าของ “ศูนย์พัฒนาถ่ายทอดการเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อมและนิเวศน์ที่ยั่งยืน”
ตัวอย่างแมลงที่รัก ที่ลุงเทพนำมาให้เรารู้จัก ตัวห้ำอย่างมวนเพชฌฆาต นั้นจับกินหนอนทุกชนิดที่รบกวนพืชผัก ส่วนแมลงช้างปีกใสดูช่างบอบบางนั้น เป็นนักล่ากินเพลี้ยตัวฉกาจ ซึ่งตัวห้ำและตัวเบียนเหล่านี้นั้นจะชอบอาศัยอยู่ในสภาพอากาศที่โปร่งโล่ง ผิดกับบรรดาหนอนและไข่แมลงที่ชอบการซ่อนซุกตัวอยู่ตามโคนต้นหรือซอกใบ หากบรรยากาศโดยรอบของพืชผักที่ปลูกไม่ถูกรบกวนด้วยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ซึ่งมักมีประสิทธิภาพดีอย่างมากต่อแมลงตัวห้ำและตัวเบียน และด้อยประสิทธิภาพต่อแมลงศัตรูพืชโดยเปรียบเทียบแล้ว ดุลยภาพในการควบคุมโรคแมลงโดยแมลงในธรรมชาติด้วยกันเองก็จะสามารถดำเนินไปได้
มวนมวนเพชฌฆาต (Eocanthecona furcellata (Holff)) มช้ปากที่เป็นแท่งยาวแหลมคมเจาะผนังลำตัวหนอนแล้วปล่อยสารให้เป็นอัมพาต ขยับตัวไม่ได้แล้วจึงค่อยดูดดกินของเหลวในตัวหนอนจนแห้งเหี่ยวตาย กินหนอนทุกชนิด ทั้งหนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนแก้วส้ม และหนอนบุ้งต่างๆ
แมลงช้างปีกใส หรือชื่อสามัญว่า Green lacewings (mallada basalis (Walker)) เจ้าตัวนี้เป็นตัวห้ำตอนเป็นตัวอ่อนเท่านั้น โดยมันจะใช้ฟันกรามที่โค้งยาวไปด้านหน้าทำลายเหยื่อและดูดกินของเหลว ส่วนตอนที่โตเต็มวัยแล้วจะกินน้ำหวานและน้ำเป็นอาหารโดยไม่ทำลายพืช หากมีการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงในอากาศ ตัวเต็มวัยมันจึงตายได้ง่ายกว่าแมลงศัตรูพืชโดยไม่ทันแพร่พันธุ์
แต่….ก็มีเงื่อนไขที่สำคัญกว่านี้ด้วย
เงื่อนไขที่สำคัญกว่าสมดุลของจำนวนแมลงที่รักกับแมลงศัตรูพืช ซึ่งกลายมาเป็นศัตรูของเราไปโดยปริยายนั้นก็คือ การสร้างความแข็งแรงให้กับพืชผักตั้งแต่เริ่มลงเมล็ดหว่านไปในดิน
การปรับปรุงดินและการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงจึงเป็นหัวใจสำคัญของการปลูกพืชในระบบการจัดการแบบ APM ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการทำเกษตรอินทรีย์ ที่เน้นการจัดสมดุลของระบบการเกษตรและส่งเสริมการหมุนเวียนการใช้ปัจจัยการผลิตภายในแปลงของเกษตร หาใช่แค่เฉพาะการไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช!
การรักษาดุลภาพของระบบนิเวศน์ใต้ดินของต้นพืชนั้น คือการรักษาความชุ่มชื้นในเนื้อดิน การคงสภาพเอื้อให้เหล่าสิ่งมีชีวิตทั้งที่เป็นจุลินทรีย์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ น้อยๆ นั้นอยู่ได้ และทำหน้าที่ในระบบนิเวศน์ได้ เพื่อการหมุนเวียนของอากาศและอาหารที่เหมาะต่อการมีชีวิตทั้งตัวต้นพืชเองและสรรพชีวิตในดิน
การใส่ปุ๋ยเคมี ซึ่งดูเผินๆ เสมือนว่าจะไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไรต่อต้นพืชนั้น แท้จริงแล้วคือการไปปรับเร่งกระบวนการดูดสารอาหารในดิน และก่อกวนสมดุลของสรรพชีวิตในดินอย่างมาก แม้ภาพสะท้อนที่เห็นจากต้นพืชผักที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมีผสมปุ๋ยอินทรีย์-ปุ๋ยชีวภาพจะมีลักษณะอวบ งามและโตดีกว่า แต่นั่นก็เหมือนกับคนที่ถูกเร่งให้กินให้โตเกินพอดี ย่อมเป็นเป้าหมายที่แมลงศัตรูพืชจะเข้ารบกวนได้ง่ายกว่า
จากประสบการณ์ของเกษตรกรที่ใช้ระบบ APM นั้นพบว่า ในช่วง 1 – 2 ปีแรก อาจจะจำเป็นที่ต้องเลือกใช้สมุนไพรควบคุมแมลง ซึ่งสมุนไพรเหล่านั้นจะออกฤทธิ์โดยตรงต่อแมลงศัตรูพืชแต่ไม่ทำลายแมลงที่รักของเรา ทั้งนี้เพราะการช่วยจัดสมดุลให้กับบรรยากาศบนดินรอบต้นพืช ไม่ให้แมลงศัตรูพืชมีมากจนแพร่ระบาด ขณะเดียวกันก็เร่งปรับปรุงโครงสร้างของดินด้วยปุ๋ยมีชีวิตอย่างปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักและการคัดเลือกชนิดและพันธุ์พืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน
หลังจากนี้ หากยังเดินอยู่บนแนวทาง APM แล้วมักพบว่า ไม่จำเป็นต้องใช้สมุนไพรควบคุมแมลงฉีดพ่นอีกเลย
นี่จึงเป็นคำตอบว่า
ทำไมแปลงผัก-นาข้าวเกษตรอินทรีย์จึงยังอยู่ได้อย่างดีภายใต้สภาพแวดล้อมของเพื่อนเกษตรกรรายอื่นที่มีการฉีดพ่นสารกำจัดแมลงที่แพร่ระบาดอย่างเข้มข้นนั่นเอง
แปลงผักอินทรีย์ของกลุ่มผักประสานใจ ที่บ้านป่าคู้ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ในช่วงปลายปี 52
การเน้นการปรับปรุงดิน จัดการแปลงผักที่ดี การปลูกพืชหมุนเวียน และเลือกปลูกผักให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล ทำให้ผักอินทรีย์ได้ผลผลิตงามๆ
กินอร่อย สบายใจ ไม่ปล่อยทิ้งปุ๋ยไนโตรเจนตกค้างในสภาพแวดล้อมจนเกิดปัญหาโลกร้อนและสรพิษปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ