ปลูกความหลากหลายให้งอกงาม

ตอนที่ 23 เปิดตัวครัวใบโหนด | ครัวชุมชน เพื่อคนทั้งหมด

แชร์

147

147

ในโมงยามแห่งความร้อนระอุ ที่ปะทุสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสภาวะภูมิอาหารและปรากฏการณ์ทางการเมือง  คณะทำงานกินเปลี่ยนโลกเราได้หลุดเข้าไปสู่โลกความจริงอีกด้านของประเทศไทย ที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา เพื่อร่วมงานทำบุญเปิดตัว “ครัวใบโหนด” ที่ชาวบ้านเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ตาลโตนดที่นั่นปลุกปั้นกันมากว่า 3 ปี

กว่าจะมาเป็นครัวใบโหนด

เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ตาลโหนด เกิดจากสมาชิกในชุมชนรวมตัวกันทำกลุ่มออมทรัพย์เพื่อตั้งเป็นกองทุนของตัวเองเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นคนในชุมชนคนบ้านเดียวกันถึง 20 ชุมชน  ใน 9 ตำบล  ของอำเภอสิงหนคร ซึ่งความงอกงามเติบโตของกลุ่มนอกจากจะชั่วแก้ปัญหาพื้นฐานในเรื่องอาชีพการทำกินในกับสมาชิกแล้ว ยังมีการสะสมทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน  การส่งเสริมสุขภาพ  สวัสดิการ และกองทุนรักษารับซื้อคืนที่ดินของสมาชิกที่จำนองไว้กับแหล่งทุนอื่นเพื่อการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรรมเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม


ปัญหาของชาวบ้านที่นี่ก็คล้ายๆ กับที่อื่น รูปแบบการดำเนินชีวิตที่พลิกเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจสังคมกระแสหลักทำให้วิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมแปรไปเป็นกึ่งเมืองกึ่งบ้าน  สภาพภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นแหล่งอาหารจาก “โหนด-นา-เล” ของที่นี่ซึ่งมีลักษณะเป็นผืนดินที่ด้านหนึ่งยื่นเข้าไปในฟากฝั่งทะเลอ่าวไทยที่เป็นแหล่งอาหารน้ำเค็ม กับอีกฟากที่มีทะเลสาบสงขลา แหล่งอาหารอันหลากหลายน้ำกร่อยและน้ำจืด ในปัจจุบันจึงมีการแทรกซ้อนปะปนกันของโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรมากมาย แม้อาชีพหลักของสมาชิกที่นี่จะเป็นการทำนา ทำสวน ทำน้ำตาลโตนด และประมง แต่คนรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มออกไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น  วิถีชีวิตการกินการอยู่จึงปรับเปลี่ยนไปตามอาชีพใหม่  ในปี 2549 กลุ่มออมทรัพย์จึงจัดทำโครงการฟื้นฟู หลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น คาบสมุทรสทิงพระฯ ขึ้น เพื่อกระตุ้นและ สร้างจิตสำนึกในคนในท้องถิ่นได้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในระบบนิเวศน์อันเป็นฐานทรัพยากรอาหารที่มีอยู่ ที่จะช่วยให้ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคงสามารถพึ่งพาตนเองได้ และยังคงไว้ซึ่งองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาของชุมชนมิให้สูญหาย

dsc01934-800
dsc01941-800

ช่วงแรกเริ่มของโครงการฟื้นฟูฯ นั้นสมาชิกเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ ได้ทำการรวบรวมความรู้ด้านการกิน การใช้ประโยชน์ สรรพคุณของผักพื้นบ้าน และตำรับอาหารท้องถิ่นของตัวเองขึ้นมา และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกในเครือข่าย ซึ่งมีทั้งพ่อเฒ่า แม่เฒ่า คนวัยทำงาน และคนรุ่นหนุ่มสาว กันอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมเวทีเสวนา การเข้าข่ายผู้เฒ่ากับสาวนุ้ย  รวมไปถึงการจัดโปรแกรมให้แม่ ป้า น้า อา ออกไปทำอาหารกลางวันให้กับโรงเรียน 7 แห่งในหมู่บ้าน


ด้วยการใช้ฟื้นฟูสุขภาพสิ่งแวดล้อมด้วยวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นนี่เองที่ทำให้ กลุ่มออมทรัพย์บ้าน ชิงโค หมู่ 7 ซึ่งมีสมาชิก 200 คน ตัดสินใจทุบกระปุกเปิดร้านอาหารท้องถิ่น มี่ชื่อ “ครัวใบโหนด” ใน Concept “ครัวชุมชน เพื่อคนทั้งหมด” โดยมีกลุ่มออมทรัพย์บ้านบ่อกุล และบ้านหัวเปลว ซึ่งมีสมาชิกรวมกันกว่า 1,500 คน เป็นแบ็คอัพ


นอกจากจะมีเมนูอาหารตำรับบ้านๆ จำหน่ายให้คนในชุมชน  “ครัวใบโหนด” ยังตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ครัวแห่งนี้เป็นมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับที่มาที่ไปของอาหารในคาบสมุทรสทิงพระ และแหล่งจำหน่ายสุขภาพ อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากชุมชน   เป็นหน่วยบริการการตรงจากลุงป้าน้าอา และลูกหลานของชุมชน เพื่อนำเสนอสู่ผู้คนที่สนใจให้ได้ร่วมภาคภูมิใจในรสอร่อยของอาหาร ไปพร้อมๆ กับการสืบสานและสร้างสรรค์ให้อาหารท้องถิ่นอยู่คู่การกินแบบมีคุณภาพในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

-800
dsc06525-800

22 เม.ย. วันเปิดตัวครัวใบโหนด

คณะทำงานกินเปลี่ยนโลกชุดเล็กไปถึงครัวใบโหนดตอนสาย พระกำลังสวดมนต์อยู่  แม่ครัวของชุมชนกว่า 20 ชีวิต กำลังจัดเตรียมอาหารกันอย่างแข็งขัน  สาวนุ้ยกึ่งเล่นกึ่งช่วยงานในเต้นท์ที่เตรียมอาหารสำหรับบุฟเฟต์มื้อกลางวันแบบบ้านๆ  จนนายอำเภอซึ่งมาเปิดงานกำลังทำการเปิดแพรคลุมป้ายร้าน  พวกเราก็คว้าจานตักข้าวราดแกงหยิบมามาตั้งวงกินกันอย่างเอาจริงเอาจัง


น้ำพริกบนไฟ ขนมจีนแกงไตปลา และน้ำยารสเฉพาะถิ่นของที่นี่ ทำฉันลังเลใจ ยังจะข้าวยำ แกงส้มปลาทราย แกงคั่วหัวโหนด* ยำมะม่วงทวาย ปลาฟาย(ควาย)แดดเดียวทอดกรอบ  ทำเอาต้องวนเวียนไปตักกินอยู่ 3 รอบเพื่อส่งเสริมกำลังใจแม่ครัว … ก็แหม จะมีอะไรยืนยันความอร่อยต่อแม่ครัวเท่าผลงานการกินระดับมหากาฬได้เล่า


ขนมหวานนั้นเล่า พวกเราเคยกินมาหลายครั้งหลายหนยามมาเยี่ยมเยือน คราวนี้  ลูกโหนดอ่อน**ฝานบางๆ ใส่ลงในน้ำกะทิถูกตักมาพอชิมๆ ให้สมกับที่นั่งคิดถึงมาในรถไฟ เหมือนจะอิ่มดีแล้วก็ยังไม่วายคว้าขนมเปียกปูนเนื้อเนียนรสนุ่มนวลและหอมหวานกำลังกินของป้าดวลมากินอีกห่อ ขนาดนี้แล้วเรายังคิดต่อว่าจะหอบเอา ลูกโหนดเชื่อม*** ขึ้นรถไฟกลับบ้านอีกนะนี่


ที่เวทีในเต้นท์ใหญ่ มีรายการลำดับไว้ยาวไปตั้งแต่เที่ยงยัน 3 โมง เป็นการเสวนากันเรื่องที่มาของร้านและคุณค่าอาหารท้องถิ่น สลับกับการแสดงของลูกหลาน และพ่อเฒ่าแม่เฒ่าอีกหลายชุด


อิ่มแล้วครู่ใหญ่…. ตุ๊กกี้จัดสำหรับอาหารวันนี้ไปเตรียมไว้สำหรับการพูดคุยและทำคลิ๊ป

dsc06512-800
dsc06509-800


พี่เก๋ ชวน คุณโบ กับคุณดีแลน นั่งคุยกับป้ากิ้ว ป้าดวล และป้าเอียด ตัวแทนเจ้าของร้านครัวใบโหนด ไล่เรียงกันไปตั้งแต่ชื่อผักพื้นบ้านที่มีอยู่ว่ามีสรรพคุณยังไง อยู่ที่ไหน ไปจนถึงเมนูต่างๆ ที่วันนี้เรากินกันอย่างเพลินเพริศ …. จนฉันอดนึกไม่ได้ว่า ถ้า 2 Chef จากร้านโบ-ลาน มาเรียนทำอาหารที่ครัวใบโหนดจริงๆ นี่ แม่ครัวเราเขาจะจัดคิวแม่ครัวของร้านให้ยังไง เพราะแต่ละเมนู จากแต่ละคนนี่ล้วนมีฝีไม้ลายมืออย่างที่ท้องของเรารับประกันไว้ว่าเยี่ยมจริงๆ กันทั้งนั้น


สำหรับผู้สนใจ ขอเชิญชวนแวะชิมและอุดหนุนครัวใบโหนดกันนะคะ  ร้านตั้งอยู่บนถนนเส้นทางระหว่าง สงขลา-ระโนด ขาออก ช่วง หลักกิโลเมตรที่ 115   ห่างจากตัวเมืองสงขลาประมาณ 20 กม.  สำหรับผู้ที่อยู่ละแวกใกล้เคียง สามารถสั่งอาหารเพื่อการจัดงานเลี้ยง และ delivery ได้  สงสัยเส้นทางไปหรือสั่งอาหาร ติดต่อได้ที่ โทร. 089-870-5529 ค่ะ

หมายเหตุ

* แกงคั่วหัวโหนด ใช้เนื้ออ่อนๆ ของลูกตาลด้านหัวฝานบางๆ แล้วเอาไปแกง
** ลูกโหนดอ่อน ภาคกลางเรียก “ลอนตาล” เป็นเนื้ออ่อนๆ ใสๆ ในลูกตาล
***ลูกโหนดเชื่อม ภาคกลางเรียก “จาวตาล” เกิดจากการเอาเมล็ดลูกตาลแก่ไปเพาะให้เกิดเป็นเนื้องอกภายในเปลือกหุ้มเมล็ด

เรื่องโดย

บุญตา วนานนท์

นักคิด นักเขียนที่สนใจ อาหาร เกษตร สิ่งแวดล้อม