ปลูกความหลากหลายให้งอกงาม

ตอนที่ 20 Green net ผู้ประกอบการทางสังคมเพื่อระบบการผลิตอาหารอินทรีย์

แชร์

85

85

ก่อนรอบปฐมทัศน์ Food inc. จะฉาย 2 – 3 วัน ฉันมีโอกาสได้คุยกับ พี่บุ๊ง – คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล ผู้อำนวยการ Green net ที่นิยามตัวเองว่าไม่ใช่ NGO แต่เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ที่หันมาบุกเบิกการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์และการค้าที่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิตจนส่งถึงมือผู้บริโภค โดยนำหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนและการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตที่เป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบันทำให้เราได้เห็นภาพความต่างในกระแสกลุ่มธุรกิจรุ่นหลังๆ ที่หันมาจับงานตลาดสินค้าอินทรีย์ที่มีแนวโน้มว่าผู้ผลิตยังมีต้องการบริโภคอยู่สูงมากและขยายตลาดได้ในอนาคต ซึ่งได้เรียบเรียงมาให้อ่านกันค่ะ

กรีนเนท ผู้บุกเบิกตลาดสินค้าเษตรอินทรีย์ในไทย greennet_logo-800

กรีนเนทก่อตั้งเมื่อปี 36 ปี 39  เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “มาตรฐานเกษตรอินทรีย์”  ปี 43 ก่อตั้งมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ปี 49 ร่วมก่อตั้งสมาคมเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่งปัจจุบันยังเป็นเลขาธิการอยู่   มีสหกรณ์กรีนเนท ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 36 ปัจจุบันมีสมาชิก 1,200 คน (95 %  เป็นเกษตรกร) สินค้าอินทรีย์ที่ส่วนใหญ่จำหน่ายโดยการส่งออกแต่ก็มีสินค้าที่จำหน่ายในประเทศหลายอย่าง เช่น ข้าว ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วเหลือง หม่อน มะพร้าว ผัก ว่านหางจระเข้ และสมุนไพร จากสมาชิกผู้ผลิต 1,191 ครอบครัว ที่เหลือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกกันเหนียวแน่นมาตั้งแต่ปีแรกๆ  ซึ่งกรีนเนทมีมูลค่าทางการตลาดประมาณ 50 ล้านบาท/ปี   ซึ่งการค้าของกรีนเนททั้งหมดเป็นในระบบการค้าที่เป็นธรรม (Fair trade)   อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมูลนิธิสายใยแผ่นดินจะมีรายได้หลักๆ จากการเป็นผู้ให้คำปรึกษาโดยนำชุดประสบการณ์ที่เราทำงานพัฒนารูปแบบการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ให้ครบทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน   ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การส่งเสริมระบบควบคุมภายใน ระบบประกันคุณภาพ การตรวจการรับรองมาตรฐาน และรับรองระบบงาน  ซึ่งให้บริการกับผู้สนใจในหลายๆ ประเทศ เช่น จีน เวียดนาม ลาว มาเลเซีย นิคารากัว ฮอนดูรัส ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความหมายของเกษตรอินทรีย์

เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่แค่การทำการเกษตรที่ไม่ใช่ปุ๋ย ไม่ใช้ยา  แต่มันหมายถึงระบบเกษตรที่คำนึงถึงการพัฒนาระบบการผลิตได้อย่างยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับตัวเกษตรกรผู้ผลิต ผลผลิตที่จะส่งไปถึงมือผู้บริโภค และระบบนิเวศน์   การปรับปรุงบำรุงดินที่ไม่ใช่แค่การใช้ปุ๋ยน้ำหมัก  แต่หมายถึงการพัฒนาโครงสร้างของดินให้มีความสมบูรณ์ซึ่งต้องอาศัยอินทรียวัตถุ การปลูกพืชหมุนเวียน และระบบการปลูกที่เน้นความหลากหลาย  การเติมจุลินทรีย์น้ำหมักลงดินในทุกๆ รอบการผลิตนั่นเป็นความล้มเหลวของการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตในฟาร์มที่ต้องลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอก  ดังนั้นเกษตรอินทรีย์จึงสนับสนุนให้เกษตรกรมีปัจจัยการผลิตเป็นของตัวเอง  และไม่เอาจีเอ็มโอ

c_cycle-800

ต้องดูมากกว่า Food mile

ฟากผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ คิดแค่ทำเกษตรอินทรีย์อย่างเดียวในตอนนี้ก็ยังไม่พอ  ตอนนี้เราต้องหันมาสนใจเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย อย่างเรื่องการผลิตที่ลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) ที่จะมีผลกระทบโดยตรงที่สุด รุนแรงที่สุด และกระทบกับตัวเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตก่อนใครเพื่อน  ซึ่งผู้บริโภคจะดูแค่เรื่อง Food mile อย่างเดียวก็คงไม่พอ ต้องไปดูที่ระบบการผลิตด้วย


ในความเห็นของพี่บุ๊ง ภาคการเกษตร ไม่ใช่ดูแค่ภายในฟาร์มอย่างเดียว   แต่ต้องดูไปถึงปัจจัยการผลิตด้วยว่ามาอย่างไร อย่างปุ๋ยเคมี ซึ่งต้องใช้พลังงานอย่างมากในการผลิต ต้องขนส่งเข้ามาในฟาร์ม เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีจะมีการปลดปล่อยไนตรัสออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก 1 ใน 3 ชนิด  ก๊าซไนตรัสออกไซด์เมื่อถูกปล่อยออกมาจะอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานถึง 150 ปี ซึ่งแม้จะมีการเพิ่มปริมาณเพียงแค่เล็กน้อยแต่ก็จะมีผลกระทบอย่างมาก นอกจากนี้มันยังนี้มีศักยภาพในการสร้างผลกระทบสูงถึง 310 ขณะที่มีก๊าซมีเธน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มีค่าอยู่ที่ 21 และ 1   ดังนั้นองุ่นที่ปลูกแบบใช้สารเคมีในไทยเมื่อเทียบกับองุ่นเกษตรอินทรีย์ที่ปลูกในจีนแล้ว องุ่นเกษตรอินทรีย์ในจีนก็ยังมีผลกระทบต่อโลกร้อนน้อยกว่า เพราะรอยเท้าคาร์บอนที่เกิดจากขบวนการขนส่งไม่น่าจะถึง 20 % ของรอยเท้าคาร์บอนทั้งหมด  ซึ่งทำให้การขนส่งน่าจะมีรอยเท้าคาร์บอนต่ำกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี  หรือการที่ผู้บริโภคในเนเธอแลนด์ยอมจ่ายค่าบล็อกโคลี่อินทรีย์ที่ปลูกในอัฟริกาแทนการซื้อบล็อกโคลี่ที่ปลูกในเรือนกระจกที่เนเธอแลนด์ เพราะนอกจากผลกระทบก่อให้เกิดโลกร้อนน้อยกว่า และยังเป็นการสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตในประเทศที่ยากจน ซึ่งเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย

climate01
climate02

ต้องพัฒนาไปไกลกว่าเกษตรอินทรีย์

ในส่วนของการบริหารจัดการทุกขั้นตอนการผลิตในห่วงโซ่จนถึงมือผู้บริโภค กรีนเนททำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอินทรีย์ มีเจ้าหน้าที่ลงไปทำงานในพื้นที่กับกลุ่มชาวบ้าน บริหารความเสี่ยงในการผลิตร่วมกับเกษตรกร  สร้างส่งเสริมระบบควบคุมภายใน ระบบประกันคุณภาพ การตรวจการรับรองมาตรฐาน และจัดการการตลาด  รวมทั้งการสร้างความเข้าใจ ความรู้พื้นฐานเบื้องต้นให้กับเกษตรกรได้รู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัด workshop เรื่องการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ต้องมีกระบวนการประเมินความเสี่ยงจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิศาสตร์ที่ทำจากในระดับชุมชนให้กับแกนนำชุมชนและคนทำงานกับเกษตรกร ซึ่งเหล่านี้เป็นความสำคัญและจำเป็นอย่างมากกับกลุ่มเกษตรกรซึ่งจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก่อนใครในสังคม

อาหารท้องถิ่น อาหารเพื่อความหลากหลายและความอยู่รอดได้ของชุมชน

การบุกเบิกตลาดอินทรีย์ในต่างประเทศเพื่อให้เกิดการขยายตัวด้านการผลิตของกลุ่มเกษตรกรไทย ก็มีต้นทุนที่สูงมากๆ และการที่จะขนส่งข้ามประเทศนอกอกไปจากท้องถิ่นต้องมีปริมาณสินค้ามากพอสมควรที่จะต้องทำให้คุ้มทุน  ซึ่งเหมือนกับว่าเป็นจุดที่เราใช้เป็นเงื่อนไขในการเข้าไปส่งเสริมกับกลุ่มเกษตรกร   ซึ่งถ้าเป็นเกษตรกรรายย่อย แบบเดี่ยวๆ ก็ทำได้ยากมาก   อย่างไรก็ตามเมื่อกลุ่มผู้ผลิตขยายการผลิตเพื่อรองรับกับความต้องการตลาดไประดับหนึ่งราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์จะลดลง  ชาวบ้านจะยังได้ขายสินค้าในราคาที่อาจจะถูกลง  แต่ยังไงผลตอบแทนของผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็จะยังสูงกว่าการผลิตที่ใช้สารเคมี เพราะเกษตรกรน่าจะสามารถพัฒนายกระดับการผลิตได้สูงขึ้น และเชื่อว่าหากปัจจัยการผลิต อย่างที่ดิน  แหล่งน้ำ ความรู้ในระบบการผลิตที่ยั่งยืน  รวมไปถึงพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่ใช้ในการผลิตอาหารยังอยู่ในมือของกลุ่มผู้ผลิต กลุ่มผู้ผลิตก็จะยังคงอยู่รอดได้  แม้กรีนเนทคุมตลอดกระบวนการผลิตจนถึงการส่งสินค้าผู้บริโภคได้  แต่ผู้ควบคุมปัจจัยการผลิตทั้งหมดยังเป็นบทบาทหน้าที่ของเกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่งถือว่าเป็นอำนาจเดียวที่กลุ่มผู้ผลิตรายย่อยเหล่านี้จะมีไว้ต่อรองได้


ในช่วงรอยต่อเพื่อให้เกิดกระแสความต้องการและขยายฐานการผลิตสินค้าอินทรีย์นี้   ต้องอาศัยความเข้าใจระหว่างผู้บริโภคที่ยอมจ่ายเงินในราคาที่สูงกว่าและต้องหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตอาหารอินทรีย์  ซึ่งมักมีความคุ้นชินกับรูปแบบการกินอาหารผ่านระบบการผลิตและตลาดที่เน้นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว จนทำให้หลายๆ คน ลืมเลือน หรือไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคยกับ พืชผักพื้นบ้านซึ่งปลูกและดูแลได้ง่ายกว่าผักเศรษฐกิจ   ระบบเกษตรอินทรีย์ที่เน้นให้เกษตรกรปลูกอย่างความหลากหลาย หมุนเวียนตามฤดูกาล และมีพันธุ์พืชเก็บไว้ใช้เอง    ซึ่งกรีนเนทเองก็เคยบุกเบิกและทำเรื่อง   farm visit เมื่อ 15 ปีก่อน ชวนกันไปทำกับข้าวจากผักพื้นบ้านและผักในแปลงเกษตรกรอินทรีย์  รวมไปถึงมีการรณรงค์ให้คนกินข้าวพื้นบ้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิมาก่อนหน้านี้หลายปี  แม้แต่การส่งสินค้าของกรีนเนทไปต่างประเทศ ก็ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจต่อผู้บริโภคให้ปรับเปลี่ยนมากินแบบสนับสนุนผู้ผลิตเกษตรกรอินทรีย์  ในโลกสมัยใหม่ซึ่งมีการไหลเข้าหากันของวัฒนธรรมการกินอยู่ด้วย  ชาวยุโรปที่ตื่นตัวกับอาหารท้องถิ่นจนเกิดเป็น “ชุมชนท้องถิ่นโลกาภิวัตน์”  แม้จะชอบอาหารสุขภาพและอยากกินอาหารไทย ก็อาจจะกินได้แค่ 1 มื้อต่อสัปดาห์  เขาก็ยังกินอาหารแบบยุโรปที่ตัวเองคุ้นเคยอยู่ดี

climate03
climate04


กรีนเนทยังมีระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ออกมารับรองตัวสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกล แต่เรื่องการติดฉลากรับรองคุณภาพนี่ ถึงที่สุดแล้วก็ต้องขึ้นอยู่การสร้างความเชื่อถือได้กับกลุ่มผู้บริโภค  ซึ่งของกรีนเนทมีกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ที่ชัดเจน  มีข้อมูลผู้ผลิตที่สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บของกรีนเนท   ซึ่งนี่เป็นจุดแข็งที่สุดที่ทำให้กรีนเนทแข่งขันได้อยู่ในท่ามกลางกระแสการเติบโตทางธุรกิจอาหารอินทรีย์


สำหรับข้อเสียเปรียบของเกษตรกรรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการผลิตตั้งแต่ในฟาร์มไปจนถึงการขอการรับรองมาตรฐานเพื่อส่งสินค้าไปยังผู้บริโภค  รวมไปถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อผู้บริโภคต่อระบบการผลิตอาหารอินทรีย์และคุณค่าของระบบวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นเหล่านี้  พี่บุ๊งมีความเห็นว่า ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ในระดับนโยบายที่รัฐต้องเข้ามาสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้อยู่รอดได้   ซึ่งตอนนี้กลุ่มผู้คนที่ตื่นตัวต่อเรื่องนี้ผุดมีขึ้นเป็นดอกเห็ดในชุมชนเว็บไซต์และก้าวหน้าไปไกลเกินกว่าจะรอคอยให้รัฐเพียงอย่างเดียวเสียแล้ว


ถึงตอนนี้แล้วคงต้องยกยุทธศาสตร์การกินเปลี่ยนโลกเพื่อความมั่นคงทางอาหารที่มีการขับเคลื่อนกันในระดับท้องถิ่นสากล ที่ว่า  “การปฏิบัติการการเมืองขั้นสูงสุด คือสิ่งเราทำเป็นประจำทุกวัน นั่นคือเลือกว่าจะกินอะไร” The most political act we do on a daily basis is choosing what to eat – Professor Jules Pretty, University of Essex, UK เพื่อตอกย้ำคุณค่าของกิจวัตรประจำวันที่บอกว่าเรากินทุกวันเปลี่ยนโลกทุกวันนั่นเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม

เว็บไซต์กรีนเนท  http://www.greennet.or.th/

คลิ๊ปสัมภาษณ์สั้นๆ 3.20 นาทีที่นี่ http://www.youtube.com/watch?v=yWiQNP4dGic

เรื่องโดย

บุญตา วนานนท์

นักคิด นักเขียนที่สนใจ อาหาร เกษตร สิ่งแวดล้อม