ตอนที่ 16 ไปป่าคู้ล่าง (จบ)
แชร์
53
แชร์
53
53
ในวันที่สองที่ป่าคู้ล่าง ช่วงพักหลังกินข้าวเช้า พี่เจนเซ็ตกิจกรรมสาธิตเพื่อให้สมาชิกของกลุ่มผู้ปลูกผักกับผู้มาเยือนได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการทำแชมพูมะกรูดและเพาะถั่วงอกแบบง่ายๆ ไว้กินเอง ซึ่งผู้ที่มานำการสาธิตก็เป็นเครือข่ายผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์ในภาคตะวันตก กลุ่มเพื่อนผู้ผลิตที่มีการพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันอยู่สม่ำเสมอ
ก็อย่างที่พี่เจนบอก ไอเดียเรื่องผู้ผลิตส่งผักตรงให้คนกินไม่ใช่แค่เป็นทางเลือกคนรักสุขภาพและหาแห่งผลิต หาของกินเท่านั้น หากแต่เป้าหมายที่ยังอยู่ไกลแต่เราหวังไว้ร่วมกันคือการสร้างสหกรณ์เพื่อจัดระบบความสัมพันธ์ใหม่เป็นเครือข่ายที่เกื้อกูลกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับกลุ่มผู้บริโภคอันหลากหลาย
การสาธิตเริ่มจากแชมพูมะกรูดสูตรส่วนผสมธรรมชาติล้วน ตรา “ในสวน” ของพี่แป๋งกับพี่โหน่ง จาก ราชบุรี ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทำมือรุ่นแรกๆ ที่ผลิตออกมาจำหน่ายเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว โดยสูตรแชมพูมะกรูดนี้พี่แป๋งบอกว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะผมของแต่ละคน บางคนจะใช้แล้วดี อย่างพี่แป๋งเองใช้สระผมแล้วไม่ต้องสระบ่อยๆ ทุกวัน แต่บางคนอย่างพี่โหน่งเองซึ่งผมมันจะใช้แล้วผมลีบ
วิธีทำง่ายๆ คือ ล้างผลมะกรูดให้สะอาด นำมาผ่ากลาง แล้วนำไปใส่หม้อสเตนเลส ใส่น้ำจนท่วมแล้วต้มนานจนเปื่อย ราว 1 ชั่วโมง จากนั้นนำมาปั่นโดยเครื่องปั่นน้ำผลไม้ แล้วใช้ผ้าดิบหรือผ้าขาวบางกรองคั้นน้ำ น้ำแชมพูที่ได้จะมีเนื้อข้นนุ่ม แชมพูนี้เก็บได้นาน 4 – 5 เดือน โดยไม่มีจุลินทรีย์เข้าไปทำลายให้บูดเสียเพราะแชมพูมีความเป็นกรดฆ่าเชื้อได้อยู่แล้ว หากแต่สีอาจจะเปลี่ยนจากแต่เดิมไปเท่านั้น แต่ถ้าเก็บใส่ขวดแช่ตู้เย็นไว้จะเก็บได้นานถึง 1 ปี โดยมีสีสันสวยเหมือนแรกทำใหม่ๆ ดูสาธิตจากพี่แป๋งคลิปต์ (10 นาที) ที่นี่ http://www.youtube.com/watch?v=dMz-FpKInYI
ถัดมาเป็นการพูดคุยกับ ‘กำพล’ คนเคยทำสื่อวารสารเกษตรกรรมชาติ กับ ‘นก’ อดีตเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ คู่สามี-ภรรยา ที่ตัดสินใจไปใช้ชีวิตเกษตรกรครบวงจรการผลิตแบบอินทรีย์ที่เริ่มตั้งแต่ปลูกเอง เก็บผลผลิตเอง และขายเองที่ “ไร่ดินดีใจ” อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี
กำพลสาธิตวิธีการเลือกและเพาะถั่วเขียวอินทรีย์กินเองง่ายๆ ที่บ้าน 2 แบบ จากถั่วเขียว 2 สายพันธุ์ (เปลือกดำ และ เปลือกเขียว) ทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงถั่วเขียวในตลาดที่อาจราดสารอ้วน โดยวิธีเพาะถั่วเขียวแบบกำพลนี้จะเป็นแบบที่กินรากด้วย เพราะที่รากมีสารอาหารและพลังชีวิตอยู่สูง ซึ่งที่ญี่ปุ่นนิยมนำรากถั่วเขียวที่คนไทยเพาะแล้วตัดทิ้งไปตากแห้งแล้วชงน้ำร้อนกินเป็นชา ซึ่งระหว่างการสาธิตเพาะถั่วงอกอินทรีย์มีพี่นีช่วยบรรยายเสริมเรื่องการกินถั่วงอกให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สลับกับการบอกวิธีสังเกตการณ์เลือกซื้อถั่วเขียวอินทรีย์ แถมท้ายด้วยการทำแป้งถั่วเขียวอินทรีย์ไว้ใช้เอง ซึ่งแป้งถั่วเขียวนี้นอกจากจะช่วยทำให้ผิวสะอาดแล้ว ยังช่วยทำให้ผิวนุ่มและไม่แห้งกร้านอีกด้วย
เรื่องทั่วไปเกี่ยวกับถั่วงอกที่เรากิน กับถั่วงอกอินทรีย์ (10 นาที) http://www.youtube.com/watch?v=DmmGHDt_GKw
วิธีเพาะถั่วงอกอินทรีย์จากไร่ดินดีใจ แบบที่ 1 (2.29 นาที) http://www.youtube.com/watch?v=ZS2dZ-6xzCM
วิธีเพาะถั่วงอกอินทรีย์จากไร่ดินดีใจ แบบที่ 2 (2.34 นาที) http://www.youtube.com/watch?v=O-M-qdcwKcs
สรรพคุณและวิธีทำแป้งถั่วเขียวอินทรีย์ไร่ดินดีใจ (4.54 นาที) http://www.youtube.com/watch?v=CXXwV9jMAEk
ย้อนไปเมื่อเย็นวันแรกที่เราไปถึงบ้านป่าคู้แล้วเจอ นก – กำพล และ ขิง ลูกสาววัย 5 ขวบ แล้วอดดีใจไม่ได้ ก็ทั้งครอบครัวนี้เป็นเพื่อนในแวดวงเดียวกันมานาน เจอะเจอกันเป็นครั้งคราวตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย
ไถ่ถามทุกข์สุขของผู้ผลิตอินทรีย์รายย่อยอย่างนก นกเล่าให้ฟังถึงผลผลิตข้าวหอมนิลอินทรีย์ที่ปลูกโดยวิธีทำนาโยนในปีนี้ว่าน่าดีใจ แถมยังมีคนมาจับจองไว้จนคิดว่าอยากจะเลิกแปรรูปผลิตภัณฑ์บางชนิดแล้วลงแรงจริงจังกับข้าว
นกเล่าให้ฟังว่าน้ำมันงาอินทรีย์ที่เธอและกำพลทำการบีบเย็นด้วยแรงตัวเองและจำหน่ายเองนั้นถูกผู้ผลิตและจำหน่ายรายหนึ่งขายตัดราคาและแอบอ้างว่าเป็นงาอินทรีย์ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วผลผลิตนั้นนำเข้าราคาถูกมาจากแหล่งที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นอินทรีย์ทุกขั้นตอน รวมทั้งขั้นตอนการเก็บรักษางาที่ใช้วิธีฉีดพ่นสารกำจัดมอด แมลง โดยที่ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตรายนี้เคยโทรมาพูดคุยเรื่องการผลิตงาและการเก็บรักษาจากกำพล….
กรรมวิธีเก็บเกี่ยวถั่วเขียว ของเธอที่ไร่ดินดีใจ ที่เรานำไปกินได้อย่างโปร่งใจหรือจะใช้เอาไปปั่นละเอียดแล้วร่อนเป็นแป้งล้างหน้า ขัดตัว ตามแต่จะเลือกใช้นั้นผิวไม่ได้มันวาว หากแต่จะมีสีเข้มออกคล้ำเพราะต้องปล่อยให้ถั่วแก่จัดแล้วจึงตากแห้ง ทุบเปลือก ร่อน และเก็บในที่แห้งกันแมลง และนำออกมาตากแดดบ้าง โดยก่อนขายจะนำมาล้างเอาฝุ่นออกแล้วตากแดดให้แห้งอีกสัก 2 – 3 แดด แตกต่างไปจากการเก็บเกี่ยวถั่วเขียวส่วนใหญ่ที่มักอาศัยการฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าเพื่อให้ใบแห้งร่วงและเก็บเมล็ดถั่วเขียวได้โดยมีผิวมันวาวสวย
ฟังเธอว่า แล้วฉันนึกว่าตัวเองโชคดีที่มีเพื่อนปลูกและซื้อผลผลิตตรงจากเพื่อนมากิน เพื่อนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายย่อยและไม่ค่อยมีกำลังซื้อบู้ทไปวางสินค้าจำหน่ายในงานต่างๆ รวมทั้งแม้แต่การจ่ายค่าตรวจและรับรองคุณภาพมาตรฐานผลผลิตอินทรีย์ แต่ใช้วิธีการโทรสั่งซื้อและส่งสินค้าทางไปรษณีย์ หรือบางทีก็ยกลังสินค้ามาให้เมื่อมีโอกาสเจอกันตามงานต่างๆ
เสร็จจากการเสวนาระหว่างผู้ผลิตและสมาชิกรับผักในโครงการใจประสานใจที่บ้านป่าคู้ล่าง พี่เก๋ ขับรถพาตุ๊กกี้และฉัน ตามหลังท้ายรถปิ๊กอัพสีขาวเก่าๆ ไปถึงไร่ดินดีใจก่อนที่ตะวันจะลับฟ้า
นั่งนึกอยู่ในใจว่า … นอกจากความรู้ในการถามถึงขบวนการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่เราต้องตั้งคำถามดีๆ เวลาจะเลือกซื้อเลือกกินแล้ว การได้ลงไปคุยและลุยดูถึงแปลง ถึงไร่-สวนแบบนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราคนกินได้รู้จักและเข้าใจของที่กินและคนที่ทำให้เรากินใช้ได้มากยิ่งขึ้น …. แต่วิธีไหนล่ะที่จะรวมพลผู้สนใจได้ผล?
ออกจากไร่ดินดีใจ ท้ายรถพี่เก๋เลยบรรทุกทั้ง แชมพู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา งาอินทรีย์ 3 สี (ขาว น้ำตาล ดำ) ที่ฉันเอามาทำเป็นของขวัญปีใหม่ แบ่งใส่ขวดเล็กขวดน้อย เป็นลวดลายไว้แจกจ่ายให้กับเพื่อนๆ บางคนที่ชอบเคี้ยวงาสดอินทรีย์กินเล่น ตามคำแนะนำของพี่เละ หมออายุรเวชตำรับอินเดียที่แนะให้เรากินงาสดแทนงาคั่วบด ซึ่งนอกจากจะเสริมแคลเซียมแบบที่ไม่ต้องเสริมสารเคมีอื่นๆ พร้อมไปกับนวดกล้ามเนื้อใบหน้า และทำให้สมองผ่อนคลายไปพร้อมๆ กับการเคี้ยว
สนใจผลิตภัณฑ์ สบู่ แชมพู “ในสวน” พี่แป๋ง พี่โหน่ง โทร. 081-627-0354
แวะเข้าไปเยี่ยมเยียน “ไร่ดินดีใจ” ได้ทางเว็บไซต์ที่ http://raidindeejai.blogspot.com/