ธรรมช้า..ธรรมชาติ
แชร์
244
แชร์
244
244
คุยนุ่มๆ กับ “อุ้ม” สิริยากร พุกกะเวส
เพียงก้าวผ่านประตูรั้วเข้าไปพบพุ่มไม้เขียวๆ น้ำพุเล็กๆ ระคนกลิ่นอายสมุนไพรอันเป็นบรรยากาศของสปาย่านสุขุมวิท 39? ก็ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้มากแล้ว แต่เมื่อได้นั่งลงแล้วค่อยๆคุยกับหญิงสาวเบื้องหน้าเรา อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส ก็ยิ่งทำให้ใจเราสงบบางเบาลงเรื่อยๆ จากที่ตั้งใจว่าจะมาคุยกันเพียงเรื่องอาหารและการบริโภค ทว่าเธอกลับพาเราไปไกลกว่านั้นยิ่งนัก
ลองสูดหายใจเข้าลึก…ลึก…ช้า…ช้า…สักสองสามครั้ง แล้วเริ่มเดินทางเข้าสู่โลกด้านในไปกับเธอกันเลย
นิตยสาร OOM ปรับรูปแบบมาเป็นสำนักพิมพ์โอโอเอ็ม (OOM Lifestyle Book) ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว (2551) ค่ะ เล่มแรกที่เราทำคือ Caf? Culture (เรื่องของคนรักกาแฟ) จากนั้นก็มีตามมาอีก 6 เล่ม กำลังทำเล่มที่ 7 อยู่ เป็นเส้นทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟสายสั้นๆ 8 สายรอบๆ กรุงเทพฯ สนุกมากเลยค่ะ แล้วยอดขายก็เป็นที่น่าพอใจทุกเล่ม ถือว่าเป็นงานที่เหมาะสมกับกำลังและความสุขใจในปัจจุบัน ทำเพื่อมีรายได้เลี้ยงทั้งตนเองและทีมงาน
แต่อีกส่วนหนึ่งของชีวิตก็แบ่งเวลาให้กับการปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ คงต้องค่อยๆ จัดสรรเวลา แล้วก็หาความสมดุลว่าจะเริ่มผ่อนงานที่เกี่ยวกับธุรกิจได้ยังไงบ้าง เพราะช่วงนี้คงยังต้องไป ปฏิบัติธรรมหลายๆวัน ในสถานที่และบรรยากาศที่เหมาะสม ก็เหมือนไปเข้าห้องเรียนน่ะค่ะ จะได้นำสติปัญญามาปรับใช้กับชีวิตในโลกทุกๆ วัน เรียกว่าค่อยๆ สร้างกำลังให้กับใจ เพื่อที่วันหนึ่ง เราจะได้ปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้อง “ไป” ปฏิบัติที่ไหนอีก
?
ก่อนอื่นอาจจะต้องเริ่มต้นคิดก่อนว่าเราไม่ควรแบ่งแยกว่าวิถีชีวิตมี ?ทางหลัก? กับ ?ทางเลือก? นะคะ เพราะอุ้มคิดว่าทุกคนต้องเลือกตลอดเวลาอยู่แล้ว เราเชื่ออย่างไรเราก็เลือกอย่างนั้น การใช้ชีวิตแบบยึดติดกับวัตถุก็เป็นทางเลือกของคนๆ นั้น อุ้มเป็นคนที่เชื่อในความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ก็เลยมักจะเลือกอะไรที่เป็นธรรมชาติเท่านั้นเอง แล้วยิ่งปฏิบัติธรรมก็ยิ่งเห็นเลยว่าตัวเราน่ะไม่มีหรอก เพราะทุกสิ่งมันเป็นสิ่งเดียวกัน ตัวเรา อากาศ โต๊ะ ต้นไม้ ฯลฯ มันอาจจะมีกรอบที่มองเห็นด้วยตา สัมผัสได้ด้วยความรู้สึก แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างมันเชื่อมโยงถึงกัน
ลองเปรียบเทียบง่ายๆ กับความคิดเรื่อง ?ประเทศ? ก็ได้ค่ะ แผ่นดินก็คือแผ่นดิน มันเป็นผืนเดียวกัน แต่คนไปสมมติกันเอาเองว่าเป็นประเทศนั้นประเทศนี้ แล้วก็ยึดมั่นว่านี่อาณาเขตของฉัน รุกรานล่วงเกินไม่ได้ ถึงกับฆ่าฟันกันก็มี ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเชื่อมต่อถึงกันเป็นผืนเดียว
ขอบเขตของตัวอุ้มก็ไม่ได้จบที่ผิวชั้นนอกของอุ้มหรอก เราถึงรู้สึกเชื่อมต่อกับสิ่งรอบตัวตลอดเวลา บางคนอาจชอบที่อึกทึก คนเยอะๆ จะได้รู้สึกไม่เหงา แต่อุ้มไม่ชอบเพราะมันสั่นสะเทือนมากเกินไปแล้วทำให้ข้างในเราเสียสมดุล ชอบอยู่ในธรรมชาติ มันก็เลยต่อเนื่องมาถึงการกิน อุ้มไม่ชอบอะไรที่ถูกดัดแปลงมากเกินไป ยังอยากเห็นว่าสิ่งที่เรากำลังจะกินคืออะไร ผ่านการถูกกระทำน้อยที่สุด ให้ธรรมชาติของมันได้แสดงตัวออกมา
อุ้มว่า สโลว์ฟู้ด มันไม่ได้พูดถึงแต่เรื่อง “ความช้า” และ “อาหาร” นะคะ แต่ว่าคือองค์รวมของการมีชีวิต คือการแลกเปลี่ยนถ่ายเทกับสิ่งต่างๆ รอบตัว กิน หายใจ เห็น นึกคิด สัมผัส เป็นช่องทางที่เชื่อมต่อเรากับโลก แต่ถ้าจะให้เฉพาะเจาะจงลงไปเรื่องอาหาร อุ้มคิดว่าหากเรารับเอาสิ่งที่ผ่านกระบวนการอันมีแต่ความรักความเมตตามาแต่แรกเริ่ม คือได้รับการปลูกจากคนที่มีคุณธรรม ตั้งอกตั้งใจปลูกมันด้วยความปรารถนาอันดี อยากให้ใครก็ตามที่กินอาหารนั้นเข้าไปมีแต่ความเจริญงอกงาม แล้วจากนั้นก็มีคนนำมาประกอบเป็นอาหารให้เราด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ในกระบวนการกินของเรา ก็มีสติรับรู้ถึงความละเอียด ละเมียดละไมของอาหาร เท่ากับเราได้รับพลังแห่งความรักความเมตตาทั้งหมดเข้าไปอย่างเต็มที่ แล้วเราก็จะคิด พูด ทำกับคนอื่นด้วยความรักความปรารถนาดีเช่นกัน
ในขณะที่บางคน กินแต่ของที่เต็มไปด้วยสารพิษ เพราะคนปลูกมีแต่ความโลภ อยากได้กำไรมากๆ โดยไม่คิดถึงคนอื่น คนทำก็ทำลวกๆ สักแต่ว่าทำไปหยาบๆ ขายเร็วๆ คนกินก็กินไป อ่านหนังสือไป ดูทีวีไป ไม่ได้อยู่กับสิ่งตรงหน้าเลย ชีวิตก็จะมีแต่ความหยาบ อุ้มเคยได้ยินเพื่อนบางคนบอกว่าไปกินอาหารที่นั่นที่นี่มา อร่อยมากเลย แต่พอถามว่าใส่อะไรบ้างกลับไม่รู้ ทั้งที่อาหารดีๆ มันมีความซับซ้อน แต่ว่าบางครั้งเราแค่เข้าถึงความจริงแบบหยาบๆ เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เช่น ก็เปรี้ยวๆ แต่เปรี้ยวของมะนาว มะปลิง มะขามเปียก มะยม หรือน้ำส้มสายชูหมักมันไม่เหมือนกันเลยนะคะ
อุ้มว่าธรรมะช่วยขัดเกลาให้ใจเราละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ จนเห็นความจริงที่ลึกซึ้งของสรรพสิ่งต่างๆ รอบตัว และเรียนรู้ที่จะเลือกได้อย่างถูกต้องดีงาม
อุ้มเพิ่งอ่านเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “วานิลลา” มา ว่ามันประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบกว่า 300 ชนิด กว่าที่จมูกเราจะได้กลิ่นวานิลลาเพียงกลิ่นเดียวเนี่ย มันซับซ้อนขนาดนั้น ซึ่งก็คงเหมือนกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเราน่ะค่ะ มันมีอะไรมากกว่าแค่ที่ตาเห็น หูได้ยิน ลิ้นได้ลิ้มรส หรือใจที่คิดนึกอีกเยอะเลย
อุ้มโตมาในบ้านที่ปากน้ำ (จ.สมุทรปราการ) ถือเป็นบุญของเรานะ เพราะแต่ก่อนนี้ปากน้ำยังมีความเป็นชนบทหน่อยๆ มีคลองหน้าบ้าน ถนนสองเลนขรุขระ ในซอยยังมีป้านู่นป้านี่ คุณย่าทำกับข้าวทีก็แจกทั้งซอย เป็นชุมชนเล็กๆ ที่เรียบง่ายน่ารัก เด็กกรุงเทพฯ ที่โตมาในคอนโดฯ เขาคงมีทัศนคติต่อโลกอีกแบบ
บ้านที่อยู่ก็เป็นบ้านชั้นเดียว เตี้ยๆ อุ้มเลยชอบอยู่กับดิน คำว่า “ติดดิน” ไม่ได้หมายถึงแค่สมถะ ไม่ใช้ของแบรนด์เนมอะไรอย่างนั้นนะคะ แต่หมายถึงชอบสัมผัสเชื่อมโยงกับดินทั้งกายและจิตวิญญาณด้วย อุ้มเคยอยู่คอนโดช่วงหนึ่ง แล้วก็ปลูกต้นไม้ไว้ในกระถางตรงระเบียง แต่ไม่ว่าจะดูแลยังไงใบมันก็จะเหลือง แล้วก็ค่อยๆ แกร็นลง ดูป่วยขึ้นทุกที อุ้มรดน้ำมันไปก็คิดว่าเราเองก็คงไม่ต่างกัน สุดท้ายก็เลือกที่จะอยู่บ้าน อยู่ในที่ที่เราสามารถรับพลังชีวิตและแรงสั่นสะเทือนของพื้นดินได้มากที่สุด
อุ้มว่าสิ่งที่เราเริ่มทำได้เลยก็คือ ลดการปรุงแต่งให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แล้วก็ค่อยๆ ทำอะไรอย่างมีสติ ไม่ต้องรีบ ฟังดูอาจจะยากอยู่ซักหน่อยในช่วงแรกนะคะ เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราทำชีวิตให้ซับซ้อนยุ่งยากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ทำจนเป็นธรรมชาติ แต่เป็นธรรมชาติปลอมๆ ที่กำลังกัดกร่อนทำลายจิตวิญญาณภายในของเราลงไปเรื่อยๆ ลองนึกดูดีๆ นะคะ การทำอะไรเร็วๆ นี่มันยากกว่าทำช้าๆ มากเลยนะคะ แต่ก่อนอุ้มเคยภูมิใจว่าเราทำอะไรได้หลายๆ อย่างพร้อมกัน ช่างมีประสิทธิภาพอะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) แต่มานึกดูตอนนี้แล้วน่ากลัวมากเลย ขาดสติล้วนๆ ไม่รู้รอดมาได้ยังไง (ยิ้ม)
เพราะจังหวะของเมืองมันเป็นแบบนี้ ถ้าทุกคนวิ่ง เราไม่วิ่งก็แปลก อุ้มเคยไปโตเกียว วันแรกก็รู้สึกว่าทุกคนเดินเร็วมากๆ จนเหมือนวิ่งกันหมดเลย แต่พออยู่ไปซักอาทิตย์นึง เฮ้ย! เราก็เดินเร็วเหมือนเขาเลย (หัวเราะ) ถ้าไม่ตั้งสติดีๆ เราจะไถลไปกับกระแสของมหาชนและกิเลสได้ง่ายมาก แต่อยากจะบอกว่าเราเกิดหนเดียว ตายหนเดียวนะคะ ถ้าหลงลืมสติเผลอวิ่งไปกับเขา แล้วเกิดเราหกล้ม ไม่มีใครหยุดรอหรือช่วยฉุดเราขึ้นมาหรอกจริงไหมคะ
นี่ก็กลับมากินมังสวิรัติได้หลายเดือนแล้วนะคะ ก่อนหน้านี้กินแบบขลุกๆ ขลักๆ เพราะตอนแรกเริ่มด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ คือไม่อยากกินเนื้อแดง รู้สึกว่าย่อยยาก แต่พอถึงจุดนึงก็กลับมากินเนื้อสัตว์อีก
ทีนี้พอเริ่มมองเห็นว่าทุกสรรพชีวิตมีคุณค่า และเราไม่ได้เกิดมาเพื่อเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น มีคนบอกว่าอย่าคิดมากน่า สัตว์พวกนั้นมันเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ ฟังแล้วน่าตกใจนะคะ? นี่เราต้องมีชีวิตอยู่บนความตายของสิ่งมีชีวิตอื่นเชียวหรือนี่ คนตายเราเรียกว่าเป็นศพใช่มั้ยคะ ถ้าอย่างนั้นกินสัตว์ที่ตายก็คือกินศพดีๆ นี่เอง พอความเห็นมันเป็นอย่างนี้ก็หมดความอยากกินไปเองโดยปริยาย แล้วก็กินมังสวิรัติได้โดยไม่เดือดร้อนทรมานอะไรเลย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อุ้มก็ไม่ได้ต้องการจะเรียกร้องให้คนหันมาเป็นแบบนี้กันหมดนะคะ ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ ต้องใช้ชีวิตให้ช้าลง ต้องใช้ชีวิตให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น ฯลฯ เพราะมันไม่ใช่ธุระของเราที่จะไปบังคับหรือตัดสินให้ใครว่าทางเดินเส้นไหนดีกว่ากัน แค่ลำพังตัวของเราจะเอารอดหรือเปล่ายังไม่รู้เลย (ยิ้ม) เพราะฉะนั้น เลือกทำในสิ่งที่เชื่อ แล้วเรียนรู้ศึกษา หาความพอดีให้กับชีวิตของตัวเองน่าจะดีกว่า
จากที่ได้เคยพูดคุยกับหลายๆ คน ก็อาจจะมีบ้างนะคะ อุ้มระลึกเสมอว่าถ้ามีใครถามแล้วอุ้มตอบอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อเขาได้บ้าง อุ้มก็พร้อมจะตอบเสมอ เช่นบทสัมภาษณ์วันนี้เป็นต้น (ยิ้ม) แล้วถ้าใครเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น อุ้มก็จะยินดีไปด้วยกับเขามากๆเลย แต่ไม่ได้อยู่ดีๆ เที่ยวเดินไปบอกคนโน้นคนนี้ว่าควรจะต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงมาใช้ชีวิตให้เหมือนเรา
อุ้มเพิ่งได้พบความจริงที่น่าสนใจอีกเรื่องนึงเกี่ยวกับพืชผักอินทรีย์มานะคะ คือตลอดมาเราจะกินผัก? ปลอดสารพิษด้วยเหตุผลว่ามันดีต่อสุขภาพ เป็นการลดการรับเอาสารพิษเข้าไปสะสมในร่างกายใช่มั้ยคะ แต่วันหนึ่งก็คิดขึ้นมาว่า เฮ้ย? ผักอินทรีย์นี่มันไม่มีกระบวนการฆ่าเกิดขึ้นในวงจรการปลูกเลยนี่ ไม่มีการฆ่าแมลง ไม่ค่อยๆ ฆ่าคนปลูกลงไปทุกที และไม่ฆ่าเราด้วย (หัวเราะ) ตอนนี้ก็เลยยิ่งเลือกกินผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ด้วยความเบิกบานใจมาก (ยิ้ม)
แล้วอย่างที่บอกว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงถึงกัน พอเราชอบกินอาหารที่ดูต่อสุขภาพ เราก็อยากหายใจเอาอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ในธรรมชาติ ออกกำลังกายแบบที่ไม่รุนแรงต่อร่างกาย เช่น เล่นโยคะ ชี่กง ซึ่งเป็นการทำสมาธิอย่างหยาบๆ ทางกาย ปูพื้นมาขนาดนี้ มันก็ต้องต่อเนื่องไปยังการทำสมาธิในระดับที่ละเอียดขึ้น ไปจนถึงการเจริญวิปัสสนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วล่ะค่ะ (ยิ้ม)
เราทุกคนได้ตายไปหมดแล้วตลอดเวลา อุ้มที่นั่งพูดตอนนี้กับอุ้มที่เล่นละครก็คนละคน แล้วก็ไม่ใช่อุ้มคนเดียวนะ ทุกท่านก็ได้ตายไปหมดแล้ว ในช่วงเวลาหนึ่งๆ เกิดดับๆ ถามว่าเปลี่ยนไปมั้ย โอ้โห!มหันต์ ประโยคที่ว่า “คุณเปลี่ยนแปลงไปมาก” มันเหมือนตัดพ้อ แต่ขอโทษนะ คุณก็เปลี่ยนไป อุ้มก็ต้องเปลี่ยน ธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง มีบางคนมาถามอุ้มว่า ทำไมไม่ไว้ผมยาวแล้ว อุ้มบอกว่า ก็ตอนนี้มันสั้น ? จบไหม
พอคิดแบบนี้ มันเลยไม่จำกัดแค่เรื่องอาหารไงคะ แต่คือทั้งหมดของชีวิต ซึ่งก็คงต้องปรับความเห็นให้ถูกต้องแต่แรกเริ่มมั้ง ที่เหลือมันจะบอกเราเองว่าควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร ไม่ใช่ว่าทำอะไรไม่ได้เลยนะคะ เช่น บอกว่าจะปรับเปลี่ยนชีวิตให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น แต่เอ๊ะ? มองไปรอบตัวไม่มีอะไรเป็นธรรมชาติเลย (ยิ้ม) ก็เป็นธรรมดาเพราะเราสะสมสิ่งผิดๆ มาเยอะนี่ แต่ถ้าไม่เริ่มก็ไม่ได้เริ่ม เหมือนบ้านรกๆ ซื้อของเยอะๆ มาสะสมไว้ตอนไม่มีสติ อุ้มก็เป็น เต็มไปด้วยข้าวของ พอจะลุกขึ้นจัดบ้านทีก็ต้องใช้แรงกายแรงใจอย่างมาก แต่เมื่อเรารู้ตัวก็ดีแล้ว ใช่ไหมคะ ? เริ่มทีละลิ้นชักก็ได้ สนุกดีนะ ค่อยๆ ทำไป ทำทีละอย่าง ไม่ต้องไปท้อใจว่าโอ้โห ! บ้านทั้งหลังมันรกไปหมด เอาแค่ลิ้นชักเดียวที่อยู่ตรงหน้านี่ละ แล้วพอเสร็จก็ลิ้นชักต่อไป จากนั้นมันก็จะเป็นตู้ เป็นชั้น เป็นห้อง แล้วก็เป็นทั้งบ้านในที่สุด
ทำทุกอย่างด้วยความพอดีค่ะ ซึ่งก็ไม่เท่ากันด้วยในแต่ละคน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรคือความพอดีนอกจากตัวเราเอง ถ้าเรารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ก็พักแล้วเริ่มใหม่ ไม่ต้องรู้สึกผิดหรือกล่าวโทษตัวเอง ทุกอย่างที่ทำไปแล้วไม่มีอะไรสูญเปล่า จริงไหมคะ ทำเล็กๆ ก่อนเดี๋ยวมันก็ดีเอง ให้กำลังใจตัวเองบ้าง ไม่มีใครมาให้คะแนนหรือมาสอบเราหรอกว่าตอนนี้เป็นคนดีขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว (หัวเราะ) อุ้มเป็นคนบ้าเลือดนะ ไม่สำเร็จไม่เลิก แต่สุดท้ายหากมันไม่ได้จริงๆ ก็ไม่เป็นไร เราต้องมีจังหวะผ่อน แต่ต้องทำให้สุดๆ ก่อนนะ ไม่ใช่นิดเดียวก็ไม่ไหวแล้ว
ทำถึงที่สุด ให้รู้ว่าที่สุดของศักยภาพของเราเป็นอย่างไรก่อน แล้วค่อยผ่อน แล้วก็จะคลาย พบกับความปกติสุขได้ในที่สุดค่ะ