มาทำสะตอดองไว้กินกันเถอะ
แชร์
5540
แชร์
5540
5540
สะตอจะมีมากในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน ผักแก่ที่พร้อมจะเก็บมากิน มาดอง มีสีเขียวเข้ม มันแวว ตรงเมล็ดจะนูน เห็นเด่นชัดสะดุดตา เปลือกหุ้มเมล็ด เมื่อแกะดูด้านในที่บริเวณขั้วของเปลือกมีสีเหลืองเข้ม
สะตอเป็นผักพื้นบ้านที่มีลักษะที่โดดเด่น เป็นพืชผักยืนต้นที่มีมากในภาคใต้ของประเทศไทย ปัจจุบันสะตอจัดเป็นพืชผักเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญ เพราะมีผู้นิยมบริโภคทั่วไป สามารถนำมากินสด และปรุงอาหารได้หลายชนิด ต้นสะตอชอบพื้นที่ที่มีความชื้นสูง ลักษณะดินที่ดีควรเป็นดินร่วนมีเพราะความอุดมสมบูรณ์สูงและในขณะเดียวกันสะตอเป็นพืชที่ชอบระบายน้ำได้ดี สะตอสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพพื้นที่ แต่ต้องไม่มีน้ำท่วม
เมื่อเข้าสู่ช่วงที่สะตอออกฝักพร้อม ๆ กันในทุกพื้นที่มีปริมาณมากชาวบ้านจึงคิดที่จะนำมาปรับใช้ในการถนอมอาหารเพื่อจะยืดเวลาการบริโภคออกไป สะตอดองทำได้หลายวิธีแต่ละพื้นที่แต่ละท้องถิ่นก็มีสูตรสะตอดองต่างกันออกไป มาลองทำสะตอดองไว้กินกันค่ะ
สูตรของเยื้อน มาละมัย ชาว ต.โตนดด้วน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง จะเลือกเฉพาะสะตอฝักแก่เต็มที่ ซึ่งเมื่อก่อนชาวพัทลุงจะดองสะตอทั้งเปลือกเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันเริ่มเห็นแบบดองแต่เมล็ดวางขาย
วิธีการดอง
– หั่นสะตอเป็นเมล็ดๆ แล้วนำไปลวก เพื่อให้ความฝาดหายไป ก่อนจะรินน้ำทิ้ง
– หลังจากนั้นนำใส่ภาชนะแล้วแช่น้ำเปล่าทิ้งไว้ 2 คืน แล้วนำมาล้างน้ำหลายๆ ครั้ง
– แช่น้ำต่ออีก 2 คืน ล้างให้สะอาด
– หลังจากนั้นก็เติมน้ำเปล่าพอท่วมเมล็ดสะตอ ใส่เกลือให้เค็มจัด เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดสะตอเปื่อย
– ดองไว้ประมาณ 15 วัน จึงเริ่มนำมารับประทานได้
เมื่อต้องการกินก็นำมาแช่น้ำเปล่า แล้วกินกับแกงพุงปลา หรือน้ำพริกจะได้รสชาติดี ซึ่งสะตอดองทั้งเปลือกแบบนี้สามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน
วิธีการดอง
– นำฝักสะตอที่แก่จัด มาลวก
– แกะเอาเมล็ดสะตอออก มาล้างให้สะอาด
– นำเมล็ดสะตอมาใส่ในขวดโหล ใส่เกลือ น้ำซาวข้าว น้ำตาลแว่นเล็กน้อย
– ปิดฝาขวดให้แน่น พักไว้ 15 วัน จึงนำมารับประทานได้
การดองเค็มนี้เป็นสูตรแบบดั้งเดิม นิยมทำมากๆ สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี
วิธีการดอง
– นำสะตอมาลวกแล้วแกะเอาแต่เม็ด ล้างให้สะอาด
– ใส่เกลือเพียงอย่างเดียว โดยเคล้าเกลือให้ทั่ว แล้วนำใส่ภาชนะปิดให้สนิท
เมื่อจะกินจึงแบ่งออกมาเท่าที่ต้องการ นำสะตอมาล้างน้ำสะอาด แล้วเติมน้ำซาวข้าว หรือน้ำเปล่าและน้ำตาลเล็กน้อย พักไว้ 3 วัน ก็กินได้
………………..
เรียบเรียงจาก รายงานผักดองภาคใต้ โดย สุภรณ์รัตน์ มาละมัย