แกงผักขี้หูด
แชร์
190
แชร์
190
190
เข้าสู่ฤดูหนาว ฉันรอคอยผักเมืองๆ รสอร่อยเฉพาะตัวที่ของฤดูนี้ออกมาให้ลิ้มรสอีกครั้ง การรอคอยอย่างโหยหา ช่างเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของอาหารตามฤดูกาล การกินอาหารตามฤดูกาลทำให้รู้สึกมีพลังชีวิตอย่างประหลาด
ฤดูหนาวปีที่แล้วฉันปลูกกระเทียม และหอมแดง แล้วไม่ลืมหย่อนเมล็ดผักชี และผักขี้หูดลงข้างๆ แปลงเลียนแบบวิถีการปลูกพืชหลังนาของพ่อแม่เท่าที่จำความได้สมัยเด็ก พอหลังเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวนาจะตัดตอซัง ปลูกหอม กระเทียม พร้อมหว่านผักชี ผักกาดจ้อนและผักขี้หูดรอบแปลงปลูกกระเทียมในช่วงกลางเดือน พ.ย. พอปลายเดือน ธ.ค. ผักเหล่านี้ก็ออกดอกผลให้กินกันแทบไม่ไหว ได้ปันให้บ้านใกล้เรือนเคียง และญาติพี่น้องอย่างภูมิใจ
ผักขี้หูด เรียกตามลักษณะของฝักที่จะเป็นตุ่มๆ ตลอดทั้งฝัก มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าผักเปิ๊ก ชอบอากาศเย็น จึงนิยมปลูกผักนี้ในฤดูหนาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ยอดและฝักสดมีรสเผ็ดและฉุนเล็กน้อยคล้ายมัสตาร์ด ได้รับฉายาว่าเป็นวาซาบิเมืองไทย แต่ถ้าสุกแล้วจะรสหวานนิดๆออกกลมกล่อม
ปีนี้ฉันไม่ได้ปลูกผักขี้หูด หนาวนี้จึงไม่มีเป็นของตัวเอง จึงไปหาซื้อที่ตลาดเช้าวันอาทิตย์ (กาดเจ๊าวันติ๊ด) ซึ่งเปิดแผงให้แม่ค้าและเกษตรกรรายเล็กรายน้อยไปเช่าแผงราคาไม่แพงจำหน่ายผลิตผลเกษตรและอาหารแบบเมืองๆ ฉันตื่นเต้นทุกครั้งที่ไปตลาดนี้ มีผักเมืองๆ ทุกอย่างให้เลือกแถมราคาไม่แพง แม่ค้าก็เป็นกันเอง ที่สำคัญลุงฉันก็ปลูกผักปลอดสารไปขายที่ตลาดนี้ เราไปถึงตลาดตั้งแต่เจ็ดโมงกว่าๆ ผู้คนพลุกพล่านเต็มตลาด ฉันได้ผักเมืองๆ หลายอย่างตั้งแต่เดินไม่ครบซอยแรก ทั้งยวม ยอดมะพร้าวอ่อน ผักกาดจ้อน ฯลฯ และไม่ลืมผักขี้หูดที่มีให้เลือกหลายร้าน กำละ 5 บาท กำเบ้อเริ่ม 2 กำก็พอแกงได้ 1 หม้อ นอกจากนี้ยังได้อาหารและขนมพื้นเมืองแม่สอดหลายอย่าง ทั้งยำหนังโกว้ (ยำหนังควาย) ขนมแก๊น (แก๊น หมายถึง ติดคอ) ทำจากข้าวหอมมะลิ ใส่น้ำอ้อย โรยงาดำกับมะพร้าวขุด ขนมปาดโม้ง หรือเป้โม้ง (ทำจากแป้ง ผสม น้ำอ้อย มะพร้าวขุดและงาดำ) ขนมขิง (ทำจากข้าวเหนียวตำใส่ขิง โรยด้วยมะพร้าวซอยและงาดำแล้วทอด) เยอะจนสุดจะพรรณา ฉันเดินหลายรอบไม่อยากกลับ จนน้องต้องเตือนเนื่องจากหอบหิ้วสองมือแทบไม่ไหวแล้ว ใครไปเที่ยวแม่สอดอย่าลืมไปแวะตลาดนี้นะค่ะ รับรองไม่ผิดหวัง เปิด 2 วันคือ วันพฤหัส กับวันอาทิตย์ ติดกับท่ารถแม่ระมาด ควรไปแต่เช้าหากไปสายผักจะเริ่มหมดเนื่องจากเป็นตลาดยอดฮิต ณ เวลานี้ทีเดียวเทียว
กลับมาบ้านแม่ก็จัดแจงเด็ดฝักผักขี้หูดเป็นท่อนๆ ฝักยาวก็เด็ดเป็นครึ่งท่อนเพื่อให้กินง่าย เตรียมไว้แกงเที่ยงนี้ ใส่ปลาช่อนย่างสิงห์บุรีของฝากจากกัลยาณมิตร และมะเขือเทศพื้นเมือง (บ่เขือส้ม)และหอมป้อม (ผักชีพื้นเมือง)ต้นหอม ของฝากจากสวนน้าสะใภ้ วัตถุดิบพร้อมแล้วจากน้ำใจญาติสนิทมิตรสหาย ก็ได้เวลาปรุงตามแม่เลยนะค่ะ
ลงมือแกงผักขี้หูดกัน
1. ตั้งหม้อใส่น้ำประมาณ 2 ถ้วยแกง ตั้งให้เดือด ใส่ตะใคร้ทุบ ล้างปลาช่อนย่าง หักเป็นท่อนใส่ในหม้อแกง
2. ตำพริกแกง 6-7 เม็ด กระเทียมไทย 3-4 กลีบ เกลือสมุทรเล็กน้อย โขลกให้พอแหลก ใส่กระปิแกง 1 ช้อนชา โขลกให้เข้ากันดี ตักใส่หม้อแกงที่เดือดปุดๆ
3. ใส่ผักขี้หูด ลงไป ตามด้วยมะเขือเทศพื้นเมือง 4-5 ลูก หั่นเป็นชิ้นๆ ใส่ต้นหอมหอมป้อมซอยยาว ปิดไฟ ตักใส่ชาม พร้อมซดน้ำแกงร้อนๆ กับผักขี้หูดเต็มคำ ง่ายๆ ใช้เวลาไม่นานก็ได้อาหารดีรสอร่อยแล้ว
ผักขี้หูด ชื่อไม่น่ากินแต่ประโยชน์ล้ำ ฝักและใบช่วยเจริญอาหาร ช่วยแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ช่วยละลายนิ่ว (ที่มา: www.frynn.com) มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็กและ วิตามินซี (ที่มา : ผักพื้นบ้านอาหารไทย สำนักพิมพ์แสงแดด)
เคล็ด (ไม่) ลับ แม่บอกไว้
– พริกจะแพ้ผักขี้หูด จึงใส่พริกหลายเม็ดหน่อย เพราะผักขี้หูดทำให้รสเผ็ดของพริกจืดลง แต่ถ้าใครไม่ทานเผ็ดไม่ต้องใส่หลายเม็ดก็ได้จะได้ซดน้ำสบายๆ
– เมื่อใส่ผักขี้หูดในหม้อแกงแล้วไม่ต้องตั้งนาน เพราะสุกง่าย หากตั้งนานผักจะเหลืองไม่น่ารับประทาน
– ฝักนอกจากแกงส้มแล้วยังสามารถใส่แกงแค ผัด หรือลวกจิ้มน้ำพริกอ่องหรือน้ำพริกมะเขือส้มก็เข้ากัน
– นอกจากฝักแล้ว ยอดอ่อน นำมาลวกจิ้มน้ำพริกมะเขือส้มก็อร่อยเช่นกัน