ผักแปลงน้อยกลางเมืองใหม่…วิถีปลูกผักที่เปลี่ยนชีวิต
แชร์
209
แชร์
209
209
ชีวิตท่ามกลางป่าคอนกรีตตามวิถี “ชุมชนเมือง” ที่หายใจเข้า – ออกอยู่ในอาคารมากกว่าผืนป่า รับประทานอาหารจากซูเปอร์มาร์เกตมากกว่าจากผืนดิน ดมกลิ่นน้ำหอมปรับอากาศมากกว่ากลิ่นดินกลิ่นหญ้า และนอนหลับลงท่ามกลางไอเย็นของแอร์คอนดิชันมากกว่าไออุ่นของผืนดินที่เริ่มคลายความร้อน
ไม่แปลก…หากสีเขียวจากพืชพันธุ์ธรรมชาติจะกลายเป็นสิ่งที่ดูแปลกแยก…หากแต่กับชีวิตของคนบางกลุ่ม ท่ามกลางข้อจำกัดของชีวิตเมืองพวกเขาลุกขึ้นมาปลูกผัก และได้ค้นพบกับคุณค่าบางอย่างของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตลาดกาล
การทำอะไรก็ตามในโลกนี้ย้อมมาคู่กับข้ออ้างของการผัดผ่อนและเลิกรา ไม่เว้นแม้แต่การปลูกผัก หากเป็นคนเมืองที่วิ่งตามกระแส เทรนด์รักสุขภาพ รับประทานผักออแกนิก ภาพชีวิตที่ฝันถึงได้ง่ายๆ หาดินมาปลูกผักกินเองปลอดสารพิษกลายเป็นภาพในฝันที่แอบซ่อนตัวอยู่ในหัวของคนเมืองหลายคน
ทว่าส่วนใหญ่ไม่สามารถลงมือจริงได้ ด้วยเหตุผลนานัปการ สิ่งเหล่านั้นไม่ต่างจากจุดเริ่มต้นของชายผู้ได้ฉายาว่า“เจ้าชายผัก” ปริ๊นซ์–นครลิมปคุปตถาวร หลังได้รับแรงบันดาลใจจากการศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เขาได้พบกับวิชาเกษตรยั่งยืน หรือที่เรียกกันว่า “เกษตรอินทรีย์”
“ถ้าอยากเริ่มปลูก อย่าไปคิดอะไรยากเกินไป เดี๋ยวจะหมดกำลังใจเสียก่อนครับ” เขาเอ่ยถึงข้อแนะนำ
หลังศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง เขาเริ่มต้นด้วยการปลูกผักโดยใช้พื้นที่ข้างโรงรถเป็นแปลงเพาะ จากซอกเล็กๆ รอบบ้านกลายเป็นแปลงผักงอกงาม ถึงตอนนี้ผักของเขาเติบโตขยายพันธุ์มากกว่า 30 ชนิดแล้ว
“สวนผมจะดูรกๆหน่อยครับปลูกอย่างละนิดละหน่อยแซมๆกันไปมีทั้งผักโขมผักบุ้งโหระพาตำลึงผักเป็ดน้ำกระชายอ่อมแซบหญ้าหนวดแมวผักชีฝรั่งมะกรูดมะรุมมะแว้งมะเขือม่วงฯลฯปลูกไว้รวมกันอย่างนี้ต้นไม้จะได้ไม่เป็นโรคครับไม่ต้องพ่นยาด้วยเพราะความหลากหลายของธรรมชาติจะสร้างสมดุลด้วยตัวของมันเอง”
เจ้าชายผักบอกว่า การปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเองนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากมายอะไร แม้แต่คนที่อยู่คอนโดฯ ก็สามารถปลูกผักไว้กินได้ เพียงแต่เลือกชนิดของผักและภาชนะให้เหมาะกับพื้นที่และสภาพอากาศ
“ถ้าบ้านมีพื้นที่น้อยๆ ผมคิดว่าอันดับแรกเลย เราต้องปลูกผักที่สอดคล้องกับความต้องการของเราและสภาพแวดล้อมที่มีอยู่เราเขียนลงกระดาษก่อนเลยว่า เราอยากกินผักอะไร จากนั้นดูว่าพื้นที่ของเราปลูกอะไรได้บ้าง เช่น ถ้าบ้านเราแดดเข้าได้น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน เราก็ยังสามารถปลูกผักที่มีขายตามท้องตลาดได้ แม้จะไม่ได้สวยหรือโตเท่ากับที่เขาวางขาย
โดยเน้นการปลูกผักในภาชนะเป็นหลักเพื่อที่จะได้สามารถโยกย้ายไปตั้งในบริเวณที่มีแสงแดดในแต่ละช่วงของวันได้ หรืออาจจะปลูกผักที่ไม่ต้องการแดดมาก เช่น โหระพา กะเพรา วอเตอร์เครส ขิง ข่า จินจูฉ่าย หรือเลือกเพาะเห็ด ถั่วงอก เมล็ดทานตะวัน แต่ถ้าอยากเพิ่มพื้นที่การวาง ก็ทำเป็นชั้นแล้วปลูกในแนวตั้ง ซึ่งการปลูกในแนวตั้งก็อาจจะต้องรดน้ำบ่อยขึ้นเพราะการวางต้นไม้สูงจากพื้นจะทำให้การระเหยของน้ำเร็วขึ้น
เจ้าชายผักกล่าวทิ้งท้ายว่า “บางคนคิดใหญ่ถึงขั้นฉันจะปลูกผักกินเองจะไม่ซื้ออาหารจากที่อื่นอีกต่อไปจริงๆแล้วอยากให้เริ่มที่แค่ได้ทำและมีความสุขก็พอครับไม่อยากให้ปลูกไปเครียดไปทำแล้วก็เบียดเบียนตัวเองส่วนคนที่บอกว่าตัวเองเป็นคนมือร้อนปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นผมว่าไม่น่าใช่นะน่าจะเป็นที่ใจมากกว่าที่ร้อนถ้ารักจะปลูกแค่ต้องใส่ใจกับเขาบ้างเช้าเย็นมาดูแลหน่อยก็ดีมารดน้ำมาพรวนดินเล็กน้อยเดี๋ยวคุณก็จะมีผักที่โตมาจากมือของคุณแล้ว”
สิ่งหนึ่งที่ผูกพันกับชีวิตคนเมืองอย่างแยกกันไม่ขาดก็คือบริษัทที่ทำงาน สำหรับมนุษย์เงินเดือนบางคนที่ถูกจัดอยู่ในประเภท“บ้างาน” สภาพแวดล้อมของการใช้ชีวิตแทบจะถูกขีดเขียนขึ้นตามแต่นโยบายบริษัท ตื่นกี่โมง? รถไปรับถึงบ้านกี่โมง? ใช้เวลาเดินทางกี่นาที? ถึงที่ทำงานเมื่อไหร่? มีกิจกรรมพนักงานอะไรให้ทำบ้าง?
ไม่แปลกหากชีวิตคนเมืองหลายคนจะพบกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากนโยบายในระดับองค์กรดร.สุธีผู้เจริญชนะชัย สถานีผัก สร้างสุของค์กร ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เล่าถึงจุดเริ่มของวิถีชีวิตการปลูกผักในองค์กรคอมพิวเตอร์ว่า มาจากการวางนโยบายอนุรักษ์พลังที่โยงไปถึงแคมเปญอาคารสีเขียวจนกลายมาเป็นแนวคิดการปลูกผักในที่สุด
“ตั้งต้นมันอาจจะมีผู้บริหารเป็นคนนำร่องให้นโยบายว่าจะรณรงค์เรื่องพลังงานแต่สุดท้ายมันมาลงที่ต้นไม้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีคนหนึ่งเสนอขึ้นว่างั้นปลูกต้นไม้เลยมั้ย? นี่เป็นจุดเริ่มต้นดังนั้นถ้าจะพูดให้ถูกมันกลายเป็นจากฐานรากขึ้นมาด้วยจุดเริ่มคือเขาคิดกันเองทำกันเอง”
จากนั้นองค์กรก็มีการให้พื้นที่สนับสนุนแรงกระตุ้น เดิมทีที่ NECTEC เป็นองค์กรวิจัยเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ บุคลากรส่วนใหญ่จึงเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรที่ทั้งไม่มี “ความรู้” และไม่มี “ความอิน” กับการปลูกผัก ทำให้การเริ่มต้นไม่ใช่เรื่องง่าย
“แต่พนักงานเขาจุดติดกันเอง มันเริ่มจากเล็กๆ ที่ทำกิจกรรมปลูกผักแม้จะไม่มีความเชี่ยวชาญก็หาความรู้ หาคำแนะนำโดยใช้โซเชียลมีเดียซึ่งรวดเร็วมาก จากนั้นมันก็ขยายวงไปได้ มันแสดงว่าสิ่งนี้เข้ากับจริตของพนักงานพอดี”
ข้อเสียของการติดกับเทคโลโนยีอาจทำให้ไม่เชี่ยวชาญด้านการปลูกพืชผัก ทว่ากลับเป็นข้อดีที่ทำให้ข้อมูลความรู้เชื่อมโยงถึงกันได้รวดเร็ว เมื่อกระแสจุดติดได้องค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักก็ถูกเผยแพร่ต่อไปในวงกว้าง
“พนักงานส่วนใหญ่จะอยู่กับคอมพิวเตอร์ตอนนี้ผักก็ไปถึงโต๊ะทำงานแล้วมีคนเอาผักไปแจกถ้าเปิดเฟซบุ๊กก็จะเห็นสีเขียวเต็มแฟนเพจมันไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ด้วยพนักงานเปิดคอมพ์ก็จะเห็นผักของตัวเองของเพื่อนๆแล้วมันก็แชร์กันไปในโซเชียลเน็ตเวิร์กนี่คือพลังของโซเชียลเน็ตเวิร์ก”
การกระตุ้นเพียงเล็กน้อยด้วยกิจกรรมการแข่งขันปลูกผักชั่งน้ำหนักตามรุ่นกลายเป็นตัวกระตุ้นให้พนักงานยิ่งสนใจในการปลูกผักมากขึ้น การส่งต่อข้อมูลองค์ความรู้ในการปลูกผักตามที่ต่าง จากที่ทำงานกระจายไปถึงที่บ้านของพนักงานแต่ละคนทุกคนสามารถประยุกต์จากการปลูกผักที่ทำงานไปปลูกไว้ที่บ้านได้อย่างง่ายดาย
“บางคนไปทำที่บ้านบางคนอยู่คอนโดฯไม่มีที่ปลูกก็ใช้เทคนิคเดียวกันกับที่ทำงานปลูกตามระเบียงบ้างม้านั่งบ้างบางคนปลูกผักเต็มโต๊ะเต็มม้านั่งก็มีแล้วแพร่ไปถึงข้างบ้านด้วยอันนี้แสดงว่ามันส่งต่อความรู้กันมากจุดสำคัญคือเทคโนโลยีถ้าเราเลือกรับปรับใช้ให้ถูกต้องมันก็สร้างการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้อยู่ที่ว่าเราจะเอาการปลูกผักการอนุรักษ์พลังงานหรืออะไรก็ตามไปใส่ในกิจกรรม”
พื้นที่รกร้างอาจเป็นส่วนหนึ่งของหลายชุมชนเมือง หากไม่รีบเร่งเกินไปจนไม่ทันสังเกต พื้นที่ว่างแบบที่เต็มไปด้วยความรกร้างของต้นไม้และขยะอาจมีอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากทุกคน ในย่านหลักสี่ก็มีพื้นที่ลักษณะนี้อยู่หากแต่มันกลับถูกเปลี่ยนให้เป็นแปลงผักอันอุดมสมบูรณ์ด้วยมือของชุมชนคนเมือง โดยพวกเขาใช้ชื่อกลุ่มว่า “สวมผักชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง 327”
ปฐมพงศ์น้ำเพชร หนุ่มใหญ่เป็นตัวแทนกลุ่มบอกเล่าเรื่องราวการเริ่มต้นจัดการที่รกให้ไม่ร้างว่า แรกเริ่มเดิมทีพื้นที่ดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นสวนของโรงงานไทยคาเนตะ อีกเป็นพื้นการเคหะริมคลองรวมแล้วมีพื้นที่ประมาณครึ่งไร่ซึ่งเป็นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทั้งยังมีคนมามั่วสุมกลายเป็นจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดเหตุอาชญากรรมได้
“ด้วยเพราะเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของ ทางชุมชนก็ได้ปรึกษากับสำนักงานเขตหลักสี่ว่า จะทำยังไงให้พื้นที่นี้ไม่ร้างและมีคนมาดูแลแล้วให้สำนักงานเขตประสานไปทางเจ้าของพื้นที่เพื่อให้ชุมชนดำเนินงานในพื้นที่ได้”
หลังจากสำนักงานเขตเข้าไปเคลียร์พื้นที่เบื้องต้น ชุมชนก็มีการระดมคนในเขตพื้นที่ทั้งในชุมชนและใกล้เคียงมาแบ่งพื้นที่รับผิดชอบแล้วก็ทำเป็นแปลงผักให้เกิดขึ้น จนถึงตอนนี้ก็มีการปลูกผักต่อเนื่องกันมาตั้ง 6 ปีแล้ว
“หลังจากลงมือปลูกผักร่วมกันเราได้หลายอย่างกลับคืนมา 1. เรามีผลผลิตที่เป็นผักไว้กินเองแบ่งปันและขายได้ 2. เราได้กลุ่มเพื่อนที่สนิทกันมากขึ้น 3. เราได้สุขภาพกายจากที่เราขุดดินปลูกผัก 4. เราได้จิตใจที่แข็งแรงจากการเฝ้าดูการเติบโตของต้นไม้จากเมล็ดจนเป็นดอกผล”
อย่างไรก็ตาม หนทางที่ผ่านมาก็ใช่ว่าจะราบรื่น อุปสรรคเล็กๆน้อยๆที่เป็นสิ่งทำให้ได้เรียนรู้ เขาบอกว่า ข้อจำกัดแรกๆคือระบบน้ำ เพราะตามพื้นที่รกร้างจะไม่มีระบบน้ำ จึงต้องหาวิธีสร้างระบบน้ำขึ้นมาใช้ในพื้นที่ดังกล่าว อุปสรรคข้อต่อมาคือการทำลายจากทั้งศัตรูพืช สัตว์เลี้ยง รวมถึงคนที่ไม่ได้ปลูกแล้วขโมยผลผลิตไป
“ฉะนั้นเราต้องใช้ความอดทนพอสมควรในการจะผ่านอุปสรรค์เหล่านั้น ผมมองว่า แค่เราได้ปลูกผัก ได้ออกกำลัง ได้เพื่อนก็มีความสุขแล้ว”
สำหรับพื้นรกร้างอีกหลายที่ในเมืองซึ่งอาจเป็นพื้นที่ทิ้งขยะที่อาจกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม เขาแนะนำให้ชุมชนลองติดต่อกับหน่วยงานราชการหรือเจ้าของพื้นที่เพื่อทำให้พื้นที่รกร้างเป็นสวนให้เป็นประโยชน์
“ผมอยากจะเชิญชวนให้แต่ละชุมชนทำพื้นที่รกร้างให้เป็นสวนแล้วให้มีคนดูแลกันตลอดแต่ต้องแบ่งกลุ่มนะครับแบ่งกันไม่ใช่ทำคนเดียวเพราะคนเดียวจะไม่ยั่งยืนให้ลองทำเป็นแปลงๆอาจจะได้สมาชิก 10 คนมาทำแต่ละคนแชร์กันคนที่ทำแล้วยั่งยืนต้องชอบทำไม่ใช่แค่อยากทำอยากพอเจออุปสรรค์หน่อยก็จะไม่อยากทำแล้วแต่คนชอบทำจะทำตลอดเจออุปสรรคก็จะศึกษาจนแก้ไขปัญหาได้”
“คุยกับผัก” อาจฟังดูเป็นกิจกรรมแปลก แต่กับหมอจิ๊บ – ญาดาจำนงค์ทอง หัวหน้าโครงการสวนผักบำบัดเยียวยากายใจสวนผักคนเมืองศรีราชา อดีตพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชเผยว่า นี่คือส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ทำกับคนไข้แล้วได้ผล ผักเหล่านี้สามารถเปิดใจคนไข้ที่มีปมอยู่ภายในได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
“เราบอกว่าไปฟังผักพูดผักอยากบอกอะไรกับเรา ช่วงนั้นกลุ่มที่มาจะประมาณ 10 คน ใครชอบชอบต้นไม้ต้นไหนก็ลองคุยสมมติชอบปูเล่ ก็ให้คุณมีสมาธิอยู่กับปูเล่ ให้คิดว่าถ้าคุณเป็นปูเล่คุณอยากบอกอะไรกับคนที่มานั่งจ้อง เขาก็จะจินตนาการออกมาและเริ่มเขียน – ผมอยากให้คุณรดน้ำผมทุกวันนะ รอให้ผมโตกว่านี้หน่อยนะ แล้วคุณค่อยเอาผมไปกิน ผมยอมให้กิน -เขาจะสามารถสร้างสรรค์จินตนาการออกมาได้
“เราจะเห็นว่าถ้าคนเรามีความสุขอยู่ในบรรยาการที่ดีความคิดสร้างสรรค์กับจินตนาการมันจะออกมาความไว้วางใจกับสิ่งแวดล้อมมันจะเกิดขึ้นแล้วตรงนี้สิ่งที่อยู่ลึกๆในใจมันจะออกมาได้ต้องทำให้เขาสบายใจไว้วางใจและผ่อนคลายก่อน”
การรักษาทางจิตโดยปกติจะมีการใช้ยา และให้คนไข้มาหาหมอบ่อยๆ เธอมองว่า สิ่งนี้ไม่ดีต่อคนไข้ ขณะที่การปลูกผักเพื่อเยี่ยวยานั้นสามารถทำเองได้ที่บ้าน ทำให้คนไข้สามารถดูแลตัวเองได้
“การปลูกผักในกระถางเล็กๆ มันเหมาะเพราะไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ และหากคนไข้ทำพลาดต้นไม้เสียหายก็ปลูกใหม่ได้ไม่เป็นไร มันทำให้การปลูกต้นไม้เป็นความสุข ผักที่เริ่มงอกทำให้ผู้ป่วยหลายคนมีสีหน้าที่ดูมีความสุขมากขึ้น”
สีหน้าแววตาของคนไข้ที่เปลี่ยนไปทำให้รู้ว่า วิถีทางนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ผักที่คนไข้หอบหิ้วมาแบ่งปัน บทสนทนาที่เกิดจากความสนใจเรื่องผักก็ทำให้คนไข้เกิดความสบายใจ เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นจนนำไปสู่การรักษาได้
“เราไม่ต้องใช้ความเป็นหมอที่ต้องดูแลคนไข้คนปลูกผักทั่วไปจิตอาสาของโรงพยาบาลก็สามารถเข้าถึงคนไข้ได้ง่ายคนไข้มาถึงจะรู้สึกอยากพูดคุยอันนี้ผักอะไรมันไม่เหมือนเราไปถามคุณเป็นอะไรมา? เมื่อคืนคุณหลับมั้ย? คนไข้จะปกป้องตัวเองอยู่เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวเขาแต่พอคุยเรื่องผักมันไกลตัวเขามันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีตรงนี้พอคนไข้รู้สึกดีสบายใจกับใครเขาก็จะเล่าปรึกษาปัญหาระบายความในใจได้”
“การปลูกผักถือเป็นวัตรปฏิบัติอย่างหนึ่ง เป็นหนึ่งในวิถีปฏิบัติ one of practice ของที่นี่” สุภาพรพัฒนาศิริ ตัวแทนจากหมู่บ้านพลัม วัดที่ยึดแนวทางของหลวงปู่ติส นัท ฮัน เผยถึงวิถีปฏิบัติในการปลูกผักที่มาจากการถือหลักรับประทานอาหารมังสวิรัติที่มีผักเป็นส่วนประกอบสำคัญ การปลูกจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงการตั้งคำถามไปสู่การทำความเข้าใจชีวิตของตัวเอง
“การปลูกผักเองทำให้เกิดคำถามในพุทธศาสตร์เรียกว่าการเกิดปัญญารู้แจ้งมันเป็นอินไซน์อันหนึ่งที่มันรู้ขึ้นเองไม่ต้องมีใครมาบอกมันไม่ต้องเกิดการตั้งคำถามว่ามันจริงหรือไม่จริงมันใช่มั้ยมันเป็นการรู้แจ้งจากตัวเราเองที่เราทำการปลูกผักในทางพุทธศาสตร์จึงเป็นการเยียวยาอย่างหนึ่ง”
อาจบอกได้ว่า ไม่ใช่เพียงผู้ป่วยเท่านั้นหากแต่ทุกคนก็ต้องการการเยี่ยวยาไม่เว้นแม้แต่นักบวช เธอเผยว่า บางครั้งที่มีความเครียด ความโกรธ ความเศร้า การได้ใช้เวลาในแปลงผักทำให้รู้ว่า สิ่งเหล่านี้ถูกเยียวยาลงไปทีละน้อย สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดจากการปลูกผักในแง่มุมของพุทธศาสตร์คือการได้รู้ว่า ชีวิตของตนเองไม่ได้อยู่แยกจากคนอื่นเธอเล่าว่า หลวงปู่ติส นัทฮันเคยพูดไว้ว่า เวลาเรามองไปที่ใบผักเราเห็นแสงอาทิตย์มั้ย? เราเห็นแม่น้ำมั้ย? เห็นผืนดินมั้ย? เห็นปู่ย่าตายายของเรามั้ย?ถ้าคนปลูกผักอยู่กับผักก็จะเห็น
“นั่นเพราะเรารู้ว่า ถ้าไม่มีแสงอาทิตย์เราจะไม่มีต้นไม้ ถ้าเราไม่มีแม่น้ำเราจะไม่มีน้ำรดผัก ถ้าเราไม่มีองค์ความรู้ของปู่ย่าตายายที่ส่งทอดมาเราจะปลูกผักไม่เป็น นี่คือหลักธรรมขั้นสูงอย่างหนึ่ง”
ปัจจุบันนี้การปลูกผักไม่ใช่วิธีชีวิตของคนทั่วไป เธอมองว่า สิ่งนี้อาจส่งผลจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้ แน่นอน ผักยังคงมีให้ทานแต่เธอตั้งคำถาม คนรุ่นต่อไปที่อาจปลูกผักไม่เป็นจะทานผักที่ปลูกขึ้นมาอย่างไร? และทานด้วยความรู้สึกแบบไหน?
“การปลูกในหมู่บ้านพลัมคือ 1. เรากินมัน 2. คือมันเป็นวิถีปฏิบัติแม้จะเคยปลูกด้วยตัวเองมาแล้วแต่ปลูกกับพระมันเปลี่ยนวิธีคิดหลักสำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องสติมันต่างจากการปลูกแบบคิดว่านี่คือผักของฉันนะมันกล่อมเกลาเรามากกว่า”
การปลูกผักแม้แรกเริ่มเดิมทีเป็นไปเพื่อความอยู่รอดเพื่อผลิตอาหารแต่ในแง่มุมที่ผูกพันกับชีวิตการสร้างความสัมพันธ์ต่อกันในสังคมจนถึงการเยี่ยวยาทางใจสู่การเข้าใจหลักธรรมในการทำความเข้าใจชีวิตถึงตอนนี้การปลูกผักเพียงกระถางเล็กๆอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณทั้งชีวิตก็ได้
*ศูนย์อบรมเกษตรในเมืองสาขาเจ้าชายผัก (ลาดพร้าว 71)
9/711 สตรีวิทยา 2 ซอย 3 ลาดพร้าว 71 กรุงเทพฯโทร. 081-867-2042
*สนใจข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกผักเพิ่มเติมติดตามได้ที่ www.thaicityfarm.com
เรื่อ อธิเจต มงคลโสฬศ
ภาพ ธัชกร กิจไชยภณ
ที่มา www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000043150
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์
การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆจากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่
ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”