เพลงของข้าว The SONGS of RICE
แชร์
544
แชร์
544
544
เพลงของข้าว
(อุรุพงศ์ รักษาสัตย์, 2558)
“เพลงของข้าวยังชนะรางวัล FIPRESCI จากเทศกาลหนังนานาชาติแห่งร็อตเทอร์ดาม และยังได้รับการคัดเลือกให้เข้าฉายในอีกหลายเทศกาลของต่างประเทศ เช่นที่ไต้หวัน, แคนาดา, โตเกียว และสิงคโปร์อีกด้วยนะฮะ #ไม่ธรรมดาเลย” แมวตัวนั้นนั่งดูหนังตรงแถวc
“ตอนที่เราดู “สวรรค์บ้านนา” เราชอบนะ แต่ไม่อิน เพราะว่ามันสวยมาก สวยจนเราคอนเนคตัวเองเข้ากับหนังไม่ได้ ในความทรงจำของเรา ชนบทที่เราเติบโตมามันไม่เคยสวยขนาดนั้น
แต่กับเรื่องนี้นี่อินเต็มที่เลย ภาพที่ถ่ายมามันเหมือนพาเรากลับบ้าน พาเรากลับไปสู่ที่ทีเราเกิดมา พาเรากลับไปสู่ความทรงจำที่เราคิดว่าเราลืมไปแล้ว” Ananda Aof Amataya
“สิ่งที่งามยิ่งกว่าภาพ คือสายตาของหนังที่จ้องมองผู้คนเหนือจดใต้ โดยไม่บอกใบ้ผู้ชมว่านี่คือจังหวัดใด ในขณะเดียวกันไม่ตัดสินอะไรในคนที่เขาถ่าย ไม่สร้างความดีและความเลว ความเสื่อมและความรุ่งเรือง ทุกตัวละครที่ปรากฏในหนังอยู่ในแนวระนาบของความรื่นเริง” Wiwat Filmsick Lertwiwatwongsa
“เรื่องหนึ่งที่ต้องรีบบอกกล่าวก็คือ นี่ไม่ใช่หนังจำพวกที่สร้างเพื่อหล่อเลี้ยงภาพลวงตาที่ดูเพ้อฝันของสังคมกสิกรรมในต่างจังหวัดในแบบที่หลายคนอาจจะเคยเห็นในนิตยสาร อสท. หรือไกด์บุ้คของฝรั่งที่ชวนท่องเที่ยวเมืองไทย (วิถีชีวิตสงบเงียบ, เรียบง่าย, สมถะ, พึงพาตัวเองได้, อยู่กับธรรมชาติ) แต่ทั้ง “สวรรค์บ้านนา” และโดยเฉพาะ “เพลงของข้าว” เป็นเสมือนกับการ update สถานการณ์ล่าสุดของสังคมชนบทที่คนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรกรรม” Prawit TaengAksorn
“ไม่ว่าชาวนาจะหว่านไถด้วยสองมือเปล่าของหมู่คนที่ร่วมลงแขกในนา หรือใช้เครื่องจักรใหญ่มหึมาเพื่อทุ่นแรงในการเก็บเกี่ยวแทนที่ช้างม้าวัวควาย หรือแม้ว่าทุกวันนี้ประเพณีวิ่งควายจะกลายเป็นการแข่งขันพนันขันต่อที่หลงเหลือเพียงเศษเสี้ยวของวิถีขี่ควายไถนาในอดีต – หนังถ่ายทอดภาพเหล่านี้อย่างเท่าเทียม (กระทั่งพื้นที่ที่ปรากฏในหนังยังถูกทำให้เลือนลางไป มีเพียงช่วงเครดิตจบเท่านั้นที่หนังจะบอกเราว่า ทั้งหมดนี้คือส่วนไหนของประเทศไทยบ้าง) นั่นคือความงามของชีวิต ความงามของวิถีชาวนาร่วมสมัย อันหลุดพ้นจากการแช่แข็งภายใต้การอาบเหงื่อต่างน้ำด้วยแรงกาย เช่นที่มักถูกนำเสนอในสื่อกระแสหลักของชาติ” Chayanin Tiangpitayagorn
“แม้มีเพียงสายลมที่รับรู้ความเป็นไปข้อนี้ แต่ผู้คนที่รายล้อมวงจรของข้าวก็จะยังบรรเลงหนึ่งเพลงของข้าวกันต่อไป เกิดเป็นเสียงสะท้อนกันไปมา ระหว่างผู้คนกับสายลม ระหว่างความอึกทึกกับความเงียบงัน การตีตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ก็เหมือนได้เข้าไปฟังเสียงสะท้อนที่ว่าในโรงหนังนั่นเอง” Joe Chalat
ขอบคุณทุกความเห็นเกี่ยวกับหนังที่เรานำมาเผยแพร่
ติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ และรีวิวอีกเพียบ ในเพจ The SONGS of RICE นะคะ
เริ่มฉาย(ไปแล้ว)ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2558 ที่ SF เซ็นทรัลเวิลด์
ฉายวันละ 1 รอบ เวลา 19.00 น. (ยกเว้นเสาร์อาทิตย์ฉาย 15.00 น.)
วันที่ 29 ม.ค. เป็นต้นไปเริ่มเข้าที่ SFX เมญ่า เชียงใหม่
วันที่ 5 ก.พ.เป็นต้นไปเริ่มเข้าฉายที่ SF เซ็นทรัลพลาซ่า ขอนแก่น