คนช่างเลือก

สายน้ำผึ้ง สายน้ำพิษ

แชร์

202

202

ริมถนนหลายสายในจังหวัดเชียงใหม่ มีรถขาย ?ส้มสายน้ำผึ้งฝาง? เรียงรายเป็นระยะๆ ตั้งแต่ราคากิโลกรัมละสิบบาท ไปจนถึงยี่สิบกว่าบาท

เป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้วที่ ?ฝาง? กลายเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อย่างไม่เป็นทางการของส้มรสชาติดีแห่งเมือง เหนือ ผลผลิตส้มจากดินแดนในหุบเขาแห่งนี้ส่งไปจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่าง ประเทศอย่างกว้างขวาง เป็นที่นิยมของทั้งผู้บริโภค และพ่อค้าแม่ขาย

แต่น้อยคนนักที่จะสนใจรับรู้ว่าว่าผลส้มเหล่านั้นมีที่ มาอย่างไร ผลิตขึ้นท่ามกลางความเจ็บป่วย และทุกข์ทรมานของใครบ้าง และที่สำคัญ นอกจากคุณค่าของวิตามินซีที่อุดมอยู่ในผลส้มแล้ว สารพิษหลายสิบชนิดก็ถูกส่งผ่านเข้าไปในกระแสเลือดพร้อมๆ กับการบริโภคส้มเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

ชะตากรรมแรงงาน

หลายปีก่อนฉันได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับคนงานชาวไทยใหญ่ ในสวนส้มขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง นายทุนเจ้าของสวนส้มสร้างห้องแถวอย่างง่ายๆ เป็นที่พักของคนงาน ห้องขนาดประมาณสามคูณสี่เมตรกลายเป็นบ้านของคนงานหนึ่งครอบครัว พ่อ แม่ และลูกอีกคนหรือสองคน ถ้าหากมีญาติหรือมีคนงานมาใหม่แล้วยังไม่มีที่พัก หนึ่งห้องเล็กๆ อย่างนั้นก็อาจจะต้องรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

หนึ่งครอบครัวอาจมีผู้มีรายได้รายวันเพียงแค่หนึ่งคน ภรรยาและสามีต้องผลัดกันดูแลลูก ไม่มีสถานรับเลี้ยงเด็ก ไม่มีโรงเรียนใดๆ ทั้งสิ้นที่เด็กเหล่านั้นจะมีโอกาสได้ไปเข้าเรียนเหมือนเด็กนักเรียนชาวไทย เพราะพวกเขาและพ่อแม่ของพวกเขาไม่มีสัญชาติไทย สวนส้มบางแห่งอาจอนุญาตให้องค์กรพัฒนาเอกชน หรือกลุ่มกิจกรรมเข้าไปทำกิจกรรม หรือสอนหนังสือเด็กๆ อยู่บ้าง แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เด็กไร้สัญชาติได้รับโอกาสเท่าเทียมกับเด็กไทยทั่วไป

ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนงานรุนแรงพอๆ กับปัญหาสุขภาพร่างกายของพวกเขา ในฐานะแรงงานต่างด้าว พวกเขาไม่มีสิทธิต่อรองเพื่อค่าจ้างแรงงานหรือสวัสดิการใดๆ วันที่หยุดทำงานคือวันที่จะไม่ได้รับรายได้ แต่ถ้าอยากได้ค่าจ้างมากขึ้นเป็นสองเท่าต้องรับหน้าที่พ่นสารเคมี

คนงานกลุ่มหนึ่งเล่าว่าพวกเขาไปหาหมอด้วยอาการแพ้สาร เคมีอยู่เป็นนิจศีล มีผื่นคันตามร่างกาย วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่สะดวก ฯลฯ คุณหมอทำได้เพียงรักษาตามอาการ แล้วแนะนำให้คนงานปกป้องร่างกาย ใช้หน้ากากป้องกันสารเคมีก่อนพ่น หรือหลีกเลี่ยงหน้าที่พ่นสารเคมี แต่ดูเหมือนกับว่าคำแนะนำของแพทย์ยังคงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับคน งาน ไม่มีหน้ากากป้องกันสารเคมี ไม่มีเสื้อผ้าห่อหุ้มร่างกายมิดชิด คนงานสวนส้มยังคงวนเวียนเข้าออกโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บป่วยแบบเดิมๆ และไม่มีใครจะคาดเดาได้ว่าอนาคตของร่างกายที่มีเลือดปนเปื้อนสารเคมีไหลเวียนอยู่ทั่วร่างจะเป็นอย่างไร

ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่พ่นสารเคมีเท่านั้นที่จะได้รับอันตราย ภรรยาและลูกๆ ที่อาศัยอยู่ในห้องแถวซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณสวนส้มขนาดนับพันไร่นั้นก็มิอาจ หลีกเลี่ยงพิษภัยของสารที่ฉีดพ่นลงไปนั้น ห้องแถวอยู่ห่างจากต้นส้มไม่กี่ร้อยเมตร สารเคมีที่ฉีดพ่นฟุ้งอยู่ในอากาศลอยวนอยู่เหนือจานข้าว หรืออากาศที่พวกเขาสูดดมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

แต่ใครเลยจะรับทราบหรือใส่ใจต่อชะตากรรมอันเสี่ยงภัยของ ผู้อยู่เบื้องหลังรสชาติเปรี้ยวหวานกิโลละสิบบาทที่เรียงรายอวดสายตาผู้ บริโภคในเมืองอยู่ในขณะนี้

orange_fang3

หายนะลุ่มน้ำฝาง

สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เคยสุ่มตรวจน้ำส้มคั้น 6 ตัวอย่าง ในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2543 พบว่า ‘ทุกตัวอย่างมีปริมาณสารเคมีเกินกว่าค่ามาตรฐาน ในปีถัดมาหน่วยงานนี้ก็สุ่มตรวจอาหารในตลาดเมืองเชียงใหม่ รวมถึงผลส้มสดและทราบว่าทั้งส้มที่นำมาตรวจโดยการสับทั้งเปลือก และเนื้อส้มที่ปอกเปลือกออกแล้ว ล้วนมีปริมาณสารพิษตกค้างในระดับที่ไม่ปลอดภัย 1

ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคส้มเท่านั้นที่จะได้รับพิษภัยจาก สารเหล่านี้ เพราะสารเคมีต่างๆ นั้นนอกจากจะติดไปกับผลส้ม ส่วนหนึ่งยังกระจายอยู่ในอากาศแทรกซึมอยู่ในดิน ถูกชะล้างลงในแหล่งน้ำ สร้างปัญหาในกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบบริเวณอย่างมาก คนงานที่เป็นผู้ฉีดพ่นสารเคมี รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงต่างต้องทนหายใจอยู่ในบรรยากาศที่มีสารพิษ ฟุ้งกระจายตลอดเวลา และทนใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีสารเคมีตกค้างปะปนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

งานวิจัย ?ผลกระทบจากพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่? โดยสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมกับ กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง 3 อำเภอและสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2547 พบว่าในพื้นที่สามอำเภอของลุ่มน้ำฝาง ได้แก่ อำเภอฝาง แม่อาย และไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีพื้นที่ปลูกส้มรวมกันนับแสนไร่ ซึ่งนับว่าเป็นขนาดพื้นที่มากที่สุดในประเทศ

การศึกษาพบว่าชุมชนในระยะ 500 เมตรจากสวนส้มได้รับกลิ่นสารเคมีร้อยละ 26.4 ชุมชนในระยะ 500-3,000 เมตรได้กลิ่นร้อยละ 11.4 และชุมชนในระยะ 3,000 เมตรขึ้นไปได้รับกลิ่นสารเคมีร้อยละ 3.6 นอกจากกลิ่นแล้ว ชาวบ้านจำนวนมากเกิดโรคจากสารเคมี โดยส่วนใหญ่เป็นโรคผิวหนังและโรคระบบทางเดินหายใจ กล่าวคือ ในอำเภอฝางมีชาวบ้านเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ 133,000 คน อำเภอแม่อาย 13,000 คน และ อำเภอไชยปราการ 16,000 คน ซึ่งโรคเหล่านี้พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่าอำเภอฝางเป็นโรคทางหายใจสูงกว่าอำเภออื่นๆ เนื่องจากมีชุมชนที่อยู่ในระยะใกล้กับสวนส้มเป็นจำนวนมากกว่าอำเภออื่น

ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเหล่านี้น่าตื่นตกใจพอๆ กับเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงที่ชาวบ้านลุ่มน้ำฝางเผชิญกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นิตยสารสารคดีฉบับที่ 222 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2546 ระบุถึงอาการความเจ็บป่วยมากมายที่บอกเล่าผ่านปากของชาวบ้านผู้ผ่าน ประสบการณ์เหล่านั้นด้วยตนเอง เช่น แม่บ้านวัย 33 ปีที่เกิดอาการแพ้สารเคมีจนเนื้อตัว ผิวหนังเต็มไปด้วยผื่นคัน เด็กๆ ในศูนย์เด็กเล็กมีตุ่มขึ้นตามตัวและเกิดอาการท้องร่วงกันทั้งโรงเรียนเพราะ ดื่มน้ำที่มีสารเคมีตกค้าง หรือการสุ่มตรวจเลือดของชาวบ้านแล้วพบว่ามีสารเคมีการเกษตรอยู่ในเลือดใน ระดับที่เป็นอันตราย

ไม่เพียงแต่สารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพ แต่กลิ่นของสารเคมีก็สร้างความรำคาญให้แก่ชาวบ้านด้วยเช่นกัน ทุกครั้งที่มีการพ่นยาฆ่าแมลง ละอองของมันจะปลิวไปตามกระแสลมได้ไกลมาก และกลิ่นอาจไปติดอยู่ตามเสื้อผ้าของชาวบ้านที่ซักตากไว้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผิวหนัง หรือไปเจือปนกับอาหารที่ชาวบ้านตากแห้งเอาไว้ เมื่อบริโภคเข้าไปก็เป็นพิษต่อร่างกาย บางครั้งกลิ่นจากสารเคมีรุนแรงจนถึงกับทำให้ชาวบ้านนอนไม่หลับและอยู่ไม่ เป็นสุข เมื่อมีการร้องเรียนมากๆ นายทุนเจ้าของสวนส้มได้แก้ไขปัญหาด้วยการหลีกเลี่ยงการพ่นสารเคมีในเวลากลาง วัน เปลี่ยนไปพ่นในเวลากลางคืนหรือตอนเช้าตรู่แทน

งานวิจัยของ พรพิไล เลิศวิชา เปิดเผยข้อมูลจากการตรวจสารพิษตกค้างในเลือดของสถานีอนามัยประจำตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าปริมาณผู้ที่มีสารพิษตกค้างในเลือดในขั้นอันตรายมีเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง สารพิษเหล่านั้น ได้แก่ สารออแกโนคลอนรีน และสารไดออกซิน เป็นสารที่นิยมใช้ในการเกษตร สลายตัวได้ยาก แต่จะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานนับสิบปี และเป็นไปได้ว่าจะปนเปื้อนอยู่ในส้มที่จำหน่ายในท้องตลาด

ด้วยภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะทำให้สารเคมีที่ฉีดพ่น อยู่ในสวนส้มอย่างเข้มข้นนั้นลอยวนอยู่ในหุบที่โอบล้อมไปด้วยแนวเทือกเขา และสวนส้มส่วนใหญ่อยู่ในแหล่งชุมชนหรือปิดล้อมชุมชน และมักอยู่เขตต้นน้ำลำธาร น้ำและสารเคมีที่ฉีดพ่นต้นส้มนั้นอาจไหลเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งชาวบ้าน ที่อยู่ปลายน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค หรือซึมเข้าบ่อน้ำของชาวบ้าน

ในภาพรวมประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกส้มทั้งหมดประมาณ 5 แสนไร่ ครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้มีพื้นที่ปลูกประมาณ 5 หมื่นไร่ ขณะที่คนไทยบริโภคส้มเฉลี่ยคนละ 24 กิโลกรัมต่อปี การทำสวนส้มในพื้นที่ขนาดใหญ่นับพันๆ ไร่ ซึ่งจะควบคุมผลผลิตให้ได้รสชาติและขนาดตามต้องการนั้นจำเป็นจะต้องมีการฉีด พ่นสารเคมีหลายชนิดทุกๆ 5 -7 วัน ตลอดทั้งปี สารเคมีเหล่านั้นล้วนมีพิษร้ายแรงถึงชีวิต เช่น อัลดิคาร์บ คาร์บาริล คาร์โบฟูราน ไซฟลูทริน ไซเปอร์เมทริน เดลตาเมทริน ไดโคโฟล ไดเมทโธเอต เอ็นโดซัลแฟน อีไทออน เมทามิโดฟอส เมทิโอคาร์บ โพรฟีโนฟอส เตตราไดฟอน และดีดีที

orange_fang2
orange_fang4

ธุรกิจของคนรวย กับชีวิตของคนจน

ในสายตายของหน่วยงานราชการ ส้มสายน้ำผึ้งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่นำรายได้มาสู่อำเภอปีละมากมาย ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงเจ้าของสวนส้มนับแสนไร่ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเป็นนายทุนทั้งในพื้นที่และมาจากต่างถิ่น ส่วนคนรากหญ้าจริงๆ มีฐานะเป็นเพียงแรงงานรับจ้างในสวนส้มหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องซึ่งไม่สามารถ จะมีเงินทุนมหาศาลไปลงทุนแข่งกับนายทุนยักษ์ใหญ่เหล่านั้น

ชาวบ้านบนดอยแห่งหนึ่งเล่าว่าพวกเขาเลือกปลูกลิ้นจี่ มะม่วง และไม้ผลชนิดอื่นๆ แทนที่จะปลูกส้ม เพราะไม้ผลเหล่านี้ปลูกทิ้งปลูกขว้างได้ ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก ต่างกับการปลูกส้มที่ต้องใช้พื้นที่กว้าง ใช้เงินลงทุนสูง ชาวบ้านธรรมดาทำได้ยาก

ชาวบ้านนักอนุรักษ์ในอำเภอฝางซึ่งไม่นิยมชมชอบสวนส้มสักเท่าไร ขนานนามพันธุ์ส้มสายน้ำผึ้งให้ใหม่ว่าส้มสายน้ำพิษ

พระอเนก จฺนทปฺญโญ พระนักอนุรักษ์ในลุ่มน้ำฝางกล่าวว่า ?ใน ระยะสิบปีที่ผ่านมากรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโปรโมทพื้นที่ลุ่มน้ำฝาง มีโปรเจคเที่ยวหนึ่งคนแล้วก็มีส้มติดมือไปสิบกิโลกรัม ในสายตาของนักท่องเที่ยวเป็นภาพที่สวยงาม มีต้นไม้เรียงแถว มีสีทองปกคลุมลดหลั่นกันไป แต่อีกด้านหนึ่งไม่มีใครพูดถึงการล่มสลายของทรัพยากร จะอยู่กันรอดไหมถ้ายังปล่อยให้มีการทำลายอย่างมโหฬารแบบนี้ ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐไปโปรโมทความพินาศฉิบหายความล่มสลายของทรัพยากร ให้กับสาธารณชนได้รับรู้?

ปัญหาเรื่องสวนส้มที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในพื้นที่ ลุ่มน้ำฝางมานานนับสิบปี สะท้อนถึงความไม่เอาจริงเอาจังของหน่วยงานรัฐในการแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านอธิบายสาเหตุความเจ็บป่วยว่าเป็นเพราะสารเคมีจากสวนส้ม เจ้าหน้าที่รัฐสวนหนึ่งก็มักเลี่ยงที่จะวิเคราะห์เชื่อมโยงปัญหาดังกล่าวกับ การใช้สารเคมีของสวนส้ม แต่วินิจฉัยว่าเป็นเพราะสาเหตุอื่นๆ เช่น การใช้สารเคมีการเกษตรของชาวบ้านเอง เมื่อชาวบ้านไปร้องเรียนปัญหาอันเกิดมาจากสวนส้ม เจ้าหน้าที่รัฐมีท่าทีบ่ายเบี่ยงหรือไม่อยากจะเข้ามาตรวจสอบและแก้ไขปัญหา

ชาวบ้านสันนิษฐานว่าเจ้าหน้าที่รัฐเกรงอิทธิพลของนายทุน หรืออาจได้รับการสนับสนุนผลประโยชน์บางอย่างทั้งเป็นการส่วนตัว

?ปัญหาต่างๆ ที่มันคาราคาซังอยู่ ส่วนมากเกิดจากทางภาครัฐที่ไม่จริงใจ ไม่เป็นธรรม ไม่วางตัวเป็นกลางระหว่างผู้ประกอบการกับกลุ่มชาวชาวบ้าน…ไม่มีใครพูดถึงการล่มสลายของทรัพยากร จะอยู่กันรอดไหมถ้ายังปล่อยให้มีการทำลายกันอย่างมโหฬารแบบนี้? พระอเนก จฺนทปฺญโญ กล่าว


แหล่งข้อมูล

พรพิไล เลิศวิชา และคณะ.2548.รายงานการศึกษากรณีสวนส้มฝาง แม่อาย ไชยปราการ: ปัญหาและกระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง.กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ที่มา : เบื้องลึกท้องถิ่น เบื้องหลังโลกาภิวัตน์ ที่ www.localtalk2004.com

เรื่องโดย

ทีมกินเปลี่ยนโลก

ทีมงานที่ร่วมสร้างวิถีแห่งการกิน เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก เรากินทุกวัน เราเปลี่ยนโลกทุกวัน