เรื่องเล่าจากไร่สตรอว์เบอร์รี
แชร์
986
แชร์
986
986
ตอนนี้ขอเล่าสู่กันฟังว่า เจ้าสตรอเบอรี่ทั่ว ๆ ไป ที่ตอนนี้ออกมากันเยอะแยะด้วยเป็นกลางฤดูของมันเนี่ยมันเป็นมายังไง ฟังไว้สะสมเป็นความรู้(โในการเลือกกินของเรานะครับ)
สตรอเบอรี่ ทางเหนือส่วนใหญ่ก็เชียงใหม่ ที่อื่นยังไม่เคยไปดู เขาจะเริ่มปลูกกันราว ๆ เดือนกันยายน ถึง ตุลาคม พันธุ์ที่นิยมกันก็คือ พันธุ์ 80 ซื้อกล้าพันธุ์มาครั้งแรก แล้วก็จะเก็บไหลไว้ทำพันธุ์ต่อได้ จะถามว่าปลูกกี่ไร่นี่เขาใช้วิธีนับต้นเอา แต่เฉลี่ยแล้วก็ได้ไร่ละประมาณ หมื่นต้น ถามไปก็จะบอกกันเป็นต้น คนนี้ปลูกสามหมื่นต้น คนนี้แสนห้า คือรายใหญ่เนี่ยแสนต้นขึ้นไปนะครับ เพราะต้นทุนมันสูง ทั้งค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าทุกสิ่ง ตั้งแต่หนอน แมลง เพลี้ยไฟ ราน้ำค้าง รา และโรคอื่น ๆ และหญ้า ก็ต้องทุนหนาหน่อย บางเจ้าก็ทุนเจ๊ คือ ผู้ค้าในตลาดไท ตลาดสี่มุมเมืองมาลงทุนกันให้เลยทีเดียว ขายได้ก็หักเงินต้นทุนกันไป
ระยะเวลาเก็บเกี่ยวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน หน่อแรกก็จะเริ่มให้ผล หลังจากนั้นหน่อสองสามสี่ก็จะเริ่มออกดอกและทยอยให้ผลให้เก็บเกี่ยวได้ยาวไปจนเกือบถึงเดือนเมษายนกันเลยทีเดียว ช่วงเวลาปลายมกราคมถึงกุมภาพันธ์เนี่ยจัดว่าเป็นกลางฤดูของมัน หมู่บ้านที่เราเข้าไปเยี่ยมชมนี่คึกคักมากเก็บสตรอเบอรี่ คัดบรรจุ ขนขึ้นรถออกไปวันละหลายสิบคันรถ
เราได้ไปสูดดม ชมแปลงสตรอเบอรี่สุดลูกหูลูกตา (โชคดีมีโควิดเรามีหน้ากาก) ก็เจอที่เขากำลังฉีดยากันหลายแปลงอยู่ ถาม ๆ ดูได้ความว่าฉีดยากันราน้ำค้าง สีออกฟ้า ๆ เอาเข้าจริง ไปส่องในกระป๋องที่เขาวางไว้ข้างถังผสมยา ก็ไม่ได้มีแต่ยากันราน้ำค้าง แต่มียาฆ่าแมลงผสมไปด้วย แล้วเขาบอกว่าพรุ่งนี้จะเก็บขาย ฮือ ๆ ที่ใบที่ลูกยังมีสีฟ้า ๆ ของสารกันราติดอยู่เลย
เรามาค้นคว้าเพิ่มเติมว่า ศัตรูสตรอเบอรี่มีอะไรบ้าง เขาถึงต้องฉีดพ่นยาคุมกันขนาดนี้ ตัวสำคัญคือ เพลี้ยไฟ ไรแดง ไรสองจุด มักระบาดช่วงความชื้นต่ำ ต้องให้น้ำเยอะ ๆ มันทำให้ต้นสตรอเบอรี่แคระแกรน ผลผลิตน้อย ผลแห้งกร้านขายไม่ได้ ตัวแสบอีกตัวคือ โรครา มีโรคแอนแทรคโนส และที่ฮิตติดปากชาวบ้านก็โรคราน้ำค้าง เกิดมากเวลาร้อนชื้น อ้าวชื้นก็เป็นรา แห้งก็เพลี้ยไฟ ไรแดงเข้า มิน่าก็ต้องฉีดฆ่าโรค ฆ่ารา ฆ่าเพลี้ย ฆ่าไรวนไป คือ ถ้าหนาวโรคแมลงก็กวนน้อย แต่มันไม่หนาวตลอดเวลาน่ะ แล้วก็มีพวกเพลี้ยอ่อนเป็นแมลงปากดูด หนอนด้วงขาว หนอนกระทู้ผักกินใบหมดไม่เหลือให้สังเคราะห์แสง เฮ้ออ ศัตรูเยอะ ทุกช่วงวัย ทุกสภาพอากาศ คือ ถ้าจะทำสตรอเบอรี่แบบหวังผลเงินล้านนี่ก็ต้องใส่กันเต็มที่
เก็บภาพสารเคมีที่เขาใช้ ๆ กันมาบางส่วน พวกกำจัดวัชพืช ก็ยังเห็นพาราควอต paraquat ส่วน ไกลโฟเสต glyphosate นี่เจอกระป๋องในสวนอยู่ทั่วไปลอยตุ๊บป่องในสระก็มี นอกจากสองตัวนี่ก็มีกลูโฟสิเนตอลูมิเนียม glufosinate ammonium
พวกกำจัดเพลี้ยไฟ ไร หนอน ก็มี อะบาเม็คติน(abamectin) โปรฟีโนฟอส profenofos , อีมาเม็คตินเบนโซเอท(emmamectin benzoate), อิมิดาคลอพริด (imidacloprid), เบต้าไซฟลูธริน (betacyfluthrin), คลอฟีนาเพอร์ (Chlorfenapyr), ไบเฟนธริน (bifenthrin), เดลต้าเมทริน (Deltamethrin), ไซฟลูมีโทเฟน (Cyflumetofen) พวกกำจัดโรคกำจัดรา ก็เช่น คาเบนดาซิม (Carbendazim), โพรพิเนป (Propineb), แมนโคเสบ (Mancozeb), เฮกสะโคนาโซล (Hexaconazole), โปรคลอราซ (Prochloraz) ฯลฯ ยังมีพวกมีแต่ชื่อการค้า ไม่มีข้อมูลตัวสารอะไรสักอย่าง คือยาผี ๆ ฉลากไม่ถูกต้อง Lamps, เอ็กซอร์น ส่วนพวกสารเร่ง/ฮอร์โมน ได้แก่ บิ๊กโต, บิ๊กกรีน, จัมโบ้จิ๊บ, ซุปเปอร์จัมโบ้ 360
ไปได้อีกยาวนะครับ แล้วยาบางตัวนี่แพงมากมีตัวหนึ่งขนาดบรรจุ 250 cc ขวดละพันสาม อย่าเพิ่งถามแล้วกินมันเข้าไปแล้วจะเป็นไง กำลังให้เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเขาทำการบ้านให้อยู่รออีกสักพักนะครับ ต้องใช้เวลา
เอาตัวอย่างเร็ว ๆ ค้นข้อมูลจาก “ระบบ GHS” (The Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals) หรือ ระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ผ่านทาง ฉลาก และเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) โดยใช้เกณฑ์เดียวกันในการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย
พื้นที่ที่เราไปดูนี่จัดว่าปลูกกันแบบอุตสาหกรรมกันเลยทีเดียว เฉลี่ยไม่ต่ำกว่ารายละ 50,000 ต้น เฉลี่ยแล้วต้นทุนต่อต้นทั้งค่าสารเคมีต่าง ๆ ค่าแรง ตกต้นละ 5 บาท และรวมค่าแรงและค่าสารเคมีปุ๋ยดินอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเตรียมกล้าอีกต้นละประมาณ 1 บาท รวมเป็นเฉลี่ยต้นทุนต้นละ 6 บาท ข้อมูลโครงการหลวงเคยเก็บรวมรวมไว้ระบุว่าสตรอเบอรี่จะให้ผลเฉลี่ยต้นละครึ่งกิโลกรัม เฉลี่ยราคาตลอดฤดูกาล กก.ละ 35 บาทแบบคละไซส์ ต้องขยายความนิดนึง ว่าสตรอเบอรี่นี่เขาคัดไซส์กันละเอียดยิบครับ มีไซส์ยักษ์ 80 บาท พิเศษ 60 บาท จัมโบ้ 45 บาท ใหญ่ 35 บาท กลาง 25 บาท เล็ก 20 บาท จิ๋ว 15 บาทซุปเปอร์จิ๋ว 10 บาท แดงเล็ก 15 บาท แดงใหญ่ 20 บาท ตกเกรด 10 บาท นี่เป็นราคาตอนนี้ ซึ่งเป็นเวลากลางฤดูกาล
มาคิดดูว่าทำแบบเนี๊ยบ ๆ เพลี้ยไม่ให้ไต่ ไรไม่ตอม ราไม่เกาะ หนอนไม่กินนี่ ดีดลูกคิดได้เลยนะครับ สมมุติทำ 10,000 ต้น ใช้ทุน 60,000 บาท ยังไม่รวมค่าแรงเก็บเกี่ยวถังละ 8 บาท คัดแยกใช้แรงงานในครอบครัว ค่าขนส่งเจ๊จ่าย 10,000 ต้น ได้ผลผลิตตก 5,000 กก. X 35 บาท ได้ 175,000 บาท ก็กำไรเป็นแสนบาท เป็นธุรกิจที่ดีนะครับ
เกือบลืมเล่าเรื่องแรงงาน พื้นที่อุตสาหกรรมสตรอเบอรี่ที่เราไปเยี่ยมชมส่วนใหญ่ใช้แรงงานชาวไทยใหญ่ที่มาปลูกกระต๊อบในบริเวณสวนกันเลย มากันเป็นครอบครัว บางครอบครัวก็มีลูกน้อยมาอยู่ด้วย ลักษณะการจ้างเป็นการเหมาจ่ายรายต้นตลอดฤดูกาลเพาะปลูกตั้งแต่ลงกล้าไปจนถึงเก็บเกี่ยว ต้นละ 2 บาท หรือถ้าเจ้าของสวนตกลงว่าจะเลี้ยงดูโดยให้ข้าวสารและเครื่องปรุงต่าง ๆ ก็จะเป็นต้นละ 1 บาทตามแต่จะตกลงกัน งานหลักก็คือ ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ ฉีดพ่นสารเคมีต่าง ๆ ภาพผัวพ่นยาเมียลากสายยางเป็นภาพปกติเห็นได้ทั่วไป
เล่ามาถึงตอนนี้น่าจะมีคนตั้งคำถามแล้วว่า กินเปลี่ยนโลกต้องการอะไรจากสังคม แล้วผู้บริโภค ควรไปด่าทอใครหรือไม่อย่างไร หรือสงสัยว่ามีปัญหาตรงไหน มีอะไรก็กิน ๆ เข้าไป ครับอยากกินอะไรก็ต้องได้กินนะครับ แต่เราก็อยากเห็นเรามีทางเลือกที่มากขึ้น ทั้งคนปลูกคนกิน จะปลูกแบบใช้สารเคมีน้อย ๆ ก็เสี่ยงเกินไป ไม่มีใครมาส่งเสริมวิชาการทางเลือกดูแลพืชผล แล้วคนปลูกก็ถูกกำหนดโดยเจ๊ พ่อค้าแม่ค้าคนกลาง ไม่สวยนี่ไม่ได้ขึ้นรถ คนกินก็ไม่รู้ที่มา ชอบของสวยของใหญ่ จะหากินที่ปลอดสารก็ไม่รู้จะหาที่ไหน จะแน่ใจได้อย่างไร นี่เป็นวังวนระบบอาหารที่เป็นปัญหาใหญ่มากของประเทศเกษตรอุตสาหกรรมประเทศนี้ ประเทศที่บริษัทสารเคมีเกษตรน่าจะมีอำนาจมากกว่ารัฐบาล เบื้องต้นเลยกินเปลี่ยนโลกเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ด้วยความรู้ เรายืนยันเสมอมาว่า เราควรกินแบบรู้ที่มา รู้ว่าใครปลูก ปลูกอย่างไร เราจะค่อย ๆ สะสมความรู้ในการเลือก และเมื่อหาทางเลือกไม่ได้ เราก็ต้องสร้างมัน ผลักดันให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ทำงานให้สมกับใช้เงินภาษีของเรา เราต้องเป็นผู้บริโภคที่ตื่นรู้ พลเมืองที่ตื่นตัว ผลักดันการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารให้มันเหมาะกับมนุษย์จะอยู่กินจะอยู่กับมัน สอดคล้องกับการรักษาระบบนิเวศ และมีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ