คนช่างเลือก

กินทุเรียนแบบไหนให้อร่อย

แชร์

390

390

หมอนทอง ชะนี ก้านยาว เหล่านี้น่าจะเป็นชื่อทุเรียนที่เราๆได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก แต่แท้จริงแล้วทุเรียนมีสายพันธุ์มากมายอีกเป็นร้อยชนิด กับราคาที่แตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัยที่ไม่ว่าแพงเท่าไหร่เราก็ยินยอมพร้อมใจกันเทกระเป๋าให้ทุกที

ทำไมราคาทุเรียนถึงแตกต่างกันนัก?

ก่อนปี 2554 ทุเรียนไม่ได้ซื้อขายกันเป็นกิโลกรัมอย่างทุกวันนี้ แต่ขายเหมาเป็นลูก หากเราอยากซื้อทุเรียนนนท์พันธุ์ก้านยาวไว้แจกจ่ายญาติพี่น้องสัก 4 ลูก ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงิน 10,000 บาท แม่ค้าคิดราคายังไงหนะหรือ?คำตอบคือ ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของทุเรียน เช่น หากเป็นทุเรียนระยะใบแก่ จะมีรสชาติอร่อย เนื้อเนียนหอมหวานราคาจะค่อนข้างแพง เมื่อเทียบกับทุเรียนระยะแตกใบอ่อน ซึ่งเป็นระยะสร้างเนื้อ ผลยังไม่สมบูรณ์ดี รสชาติจืดจาง เช่นเดียวกับทุเรียนปลายกิ่ง ซึ่งเป็นส่วนที่น้ำเลี้ยงส่งไปไม่เพียงพอ ราคาจึงจะถูกกว่า อีกทั้งการปลูกทุเรียนจำเป็นต้องให้รายละเอียดมาก เป็นการปลูกแบบประณีตจึงทำให้มีต้นทุนสูง สำหรับในมุมมองผู้ผลิตแล้วราคาทุเรียนในปัจจุบันค่อนข้างสมเหตุสมผล โดยพันธุ์ชะนีเริ่มต้นที่ 250 บาท/กก. พันธุ์หมอนทองเริ่มต้นที่ 300 บาท/กก. แต่อย่างที่บอกไป ราคาทุเรียนไม่คงที่เนื่องจากขึ้นกับปัจจัยทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คู่มือดูทุเรียนฉบับมือใหม่ เลือกกินยังไงให้อร่อย

สำหรับผู้กินแล้ว การเลือกซื้อหาทุเรียนไม่ใช่เรื่องที่จะดูกันได้ง่ายๆ ต้องใช้ทั้งประสบการณ์และสายตาอันละเอียดละออ เราจึงมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อกันพร้อมคัดแยกสายพันธุ์อย่างง่ายๆกัน

ก้านยาว : กลิ่นจะหอมเหมือนเกสรดอกไม้ แต่หากเริ่มมีกลิ่นเหมือนเศษไม้ให้ทำใจว่าอาจไม่อร่อยนัก อาจเพราะต้นไม้สมบูรณ์ หากนับจากวันตัดผลทุเรียนออกจากต้นเป็นวันที่ 1 ควรสุกในวันที่ 4 และจะพร้อมรับประทานในวันที่ 5 และหากปลูกทุเรียนก้านยาวควรรักษาให้ต้นหนึ่งมีเกิน 3 ลูก (เพราะแม้ว่ามาจากต้นเดียวกันแต่ทุเรียนแต่ละลูกจะมีรสชาติไม่เหมือนกัน)

ชะนี : ปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก รสชาติหวานจัด เนื้อเหนียวหนึบ กลิ่นแรง ยิ่งทิ้งไว้นานวันกลิ่นจะแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังไม่ได้แกะก็จะมีกลิ่นอ่อนๆโชยออกมา

หมอนทอง : เป็นที่นิยมเพราะดูแลง่าย ให้เลือกลูกที่เปลือกบาง ปลายหนามแห้ง งอน ถี่ แหลมคมเหมือนเล็บเหยี่ยว มี 5 พูดเต็ม จะมีแนวโน้มว่าอร่อย ฉีกรับประทานง่าย แต่หากพันธุ์หมอนทองที่ได้มามีหนามใหญ่ และห่าง มีโอกาสไม่อร่อยสูงเนื่องจากหนามที่ใหญ่จะดูดซึมน้ำเข้ามามาก เส้นใยเยอะ แต่หากได้รับการเก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่เหมาะสมก็จะอร่อยกว่าใครไปเลย

กบแม่เฒ่า: หวาน เนื้อเนียนละเอียด หอม

กบชายน้ำ: มีเส้นใยมาก หยาบกว่า แต่จะมันนำหวาน

กบสีนาก: เนื้อเหลืองทอง เม็ดลีบ เนื้อร่อนละเอียด

ปลูกทุเรียนนั้นแสนยากเย็น เป็นจริงดังเขาว่าหรือ?

การปลูกทุเรียนต้องประณีตมาก รายละเอียดเล็กน้อยก็ต้องเฝ้าสังเกตทุกขั้นตอน ทั้งยต้องหมั่นสังเกตสิ่งแวดล้อมแบบรายวัน เอาใจใส่เป็นอย่างดีตั้งแต่วันปลูกจนกระทั่งวันแกะกินเข้าปาก การรู้จักสวนทุเรียน รู้จักสภาพอากาศ และรู้จักต้นทุเรียนของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสั่งสมประสบการณ์อย่างยาวนาน สำหรับผู้ปลูกทุเรียน หากลองสังเกตจะพบว่าทุเรียนต้นแก่มักมีรสชาติอร่อยกว่าต้นสาว เนื่องจากมีโครงสร้างแข็งแรง หาสารอาหารเก่ง บรรทุกลูกได้มาก ยิ่งอายุนานวัน ต้นจะยิ่งพัฒนาจนเป็นสมดุลของตนเอง หากอยากรักษาคุณภาพของต้นนั้นไว้ ให้หมั่นริดลูกออกและเลือกเก็บไว้แต่ลูกที่มีคุณภาพเท่านั้น หมั่นดูดอกทุเรียนว่าได้รับการผสมที่สมบูรณ์หรือไม่ ลูกต้องไม่เว้าแหว่ง เมื่อลูกโตเท่าลูกมะกอกน้ำจะเริ่มเห็นเป็นรูปทรง หากเป็นลักษณะลูกเป็ด ไม่กลม ให้สอยออกเสียเพราะฉะนั้นทุเรียนแต่ละต้นควจะมีลูกทุเรียนไม่เกิน 10 ลูกเท่านั้น (ยกเว้นบางสายพันธุ์ที่ยิ่งลูกดกยิ่งดี เช่น พันธุ์กบชายน้ำ) และเนื่องจากทุเรียนต้นหนึ่ง ลูกทุเรียนจะสุกไม่พร้อมกัน การเก็บเกี่ยวจึงต้องเลือกลูกที่แก่แล้วเท่านั้น

การเก็บเกี่ยวทุเรียนควรตัดในช่วงเช้า โดยหลักการจะให้นับวันที่ดอกทุเรียนบานเป็นวันที่ 1 ก่อนถึงวันตัด 7 วัน ชาวสวนต้องปีนขึ้นต้นทุเรียนทุกวันเพื่อตรวจดูทุเรียนทุกลูกว่ามีลักษณะที่เหมาะสมหรือยัง โดยเฉพาะพันธุ์ก้านยาวที่ต้องใช้ละเอียดละออมาก ไม่ว่าจะเป็นลองใช้นิ้วโป้งทาบลงที่ขั้ว ถ้าพอดีแสดงว่าพร้อมตัด หรือดูที่ก้น หากยังเห็นลึกบุ๋มลงเป็นถ้วยตะไลอยู่แปลว่ายังใช้ไม่ได้ แต่ทุเรียนแต่ละต้นก็ไม่สามารถทำตามตำราเปะได้ มันมีเอกลักษณ์ที่จำเพาะเจาะจงมากแต่ละสวนจึงต้องมีเทคนิคความชำนาญของตัวเอง เนื่องจากทุเรียนอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมมาก หากถึงเวลาเก็บเกี่ยวแล้วแต่ฝนตกจำเป็นต้องยืดเวลาตัดออกไปเพราะทุเรียนจะดูดน้ำฝนเข้าทันที กลายเป็นทุเรียนเนื้อแฉะ ไส้ซึม หากเป็นพันธุ์ก้านยาวเนื้อจะไม่เหนียว เป็นทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพไปโดยปริยาย

ทุเรียนกรอบนอกนุ่มใน รสชาติใหม่ที่สังคมต้องการ!?

แต่เดิมคนไทยไม่ได้นิยมรับประทานทุเรียนที่มีลักษณะของเนื้อแบบ “กรอบนอกนุ่มใน” เลย ทุเรียนที่นิยมต้องมีเนื้อนุ่ม หอมหวานละมุนเสียมากกว่า แต่ในปัจจุบันเรากลับเห็นเทรนด์การโฆษณาขายทุเรียนว่ากรอบนอกนุ่มในกันเต็มไปหมด และดูเหมือนผู้บริโภคจะชอบรสชาติดังกล่าวเสียจริงๆ แต่หารู้ไม่ว่ารสชาติทุเรียนแบบ “กรอบนอกนุ่มใน” เป็นรสชาติของทุเรียนที่ปลูกในอุตสาหกรรมพืชเชิงเดียวแบบเคมีซึ่งทำให้ทุเรียนมีลักษณะแบบไม่สมบูรณ์ ทำให้เนื้อด้านนอกยังแข็งอยู่ รสชาติหวานแบบแหลมโด่ง (ต่างกับการปลูกแบบอินทรีย์ที่จะให้รสหวานนัวกลมกล่อม) การสร้างวาทกรรมทุเรียนอร่อยต้องกรอบนอกนุ่มใน จึงเป็นเพียงการสร้างค่านิยมทางการตลาดของทุเรียนเคมีเสียมากกว่า อย่างไรก็ตาม หลายคนคงไม่ปฏิเสธว่าทุเรียนรสหวานแหลม กรอบนอกนุ่มในก็มีรสชาติอร่อยอย่างเป็นเอกลักษณ์อยู่เหมือนกัน รักแบบไหนชอบแบบไหนคงต้องให้รสนิยมส่วนตัวแต่ละท่านเลือกรับประทานกันเอาเอง

ทุเรียนวินเทจ รสชาติแห่งความทรงจำในอดีต

ในบรรดาทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ แต่คนส่วนใหญ่กลับมีโอกาสได้ลิ้มลองเพียงแค่ไม่กี่รสชาติเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันทุเรียนส่วนใหญ่ในท้องตลาดเป็นการทำในระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และโดยมาเป็นการเพาะปลูกในระบบเคมี รสชาติอันหลากหลายจึงถูกจำกัดอยู่เพียงไม่กี่แบบ หากเรามีโอกาสได้เข้าชมเข้าชิมทุเรียนจากสวนอินทรีย์แท้ๆแล้วหละก็จะพบว่ารสชาติและสัมผัสของทุเรียนแต่ละลูก แต่ละสายพันธุ์นั้นหลากหลายไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ ผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านเมื่อได้ชิมสายพันธุ์เก่าแก่กลับบอกได้เป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นรสชาติแห่งวัยเด็ก เป็นรสชาติคลาสสิกที่หากินไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน เพราะรสชาติเป็นเรื่องที่บันทึกทางเทคโนโลยีไม่ได้ เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ และรสนิยมส่วนตัวของมนุษย์ ทุเรียนต่างสายพันธุ์ ต่างยุคสมัยก็มีความอร่อยที่หลากหลาย คงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ว่า ทุเรียนพันธุ์ไหน หรือสมัยไหนอร่อยกว่ากัน ขอให้ทุกท่านลองความทรงจำอันแสนสุขเป็นเครื่องตัดสินเองดีกว่า.


เนื้อหาจาก

ซีรี่ย์ “ทุเรียนออนไลน์”
Panel 3 เรื่อง กินทุเรียนแบบไหนให้อร่อย วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน 2564 เวลา 19.00-21.00 น.

วิทยากร

  1. คุณชาตรี โสวรรณตระกูล สวนละอองฟ้า จ.นครนายก
  2. อ.อาภา หวังเกียรติ นักชิมทุเรียนทั่วไทย
  3. คุณหนึ่งฤทัย สังข์รุ่ง กรรมการตลาดอิงวัดอิงสวน
  4. คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิชีววิถี

เรื่องโดย

กินเปลี่ยนโลก ทีม

ทีมงานที่ร่วมสร้างวิถีแห่งการกิน เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก เรากินทุกวัน เราเปลี่ยนโลกทุกวัน