ตลาด

แอบดูตลาดใหม่ทุ่งครุ ตลาดนำร่องด้านระบบ Trace Back ข้อมูลผู้ขายอาหารสดในกรุงเทพฯ

แชร์

562

562

เรื่อง เกวลิน ศักดิ์สยามกุล
ภาพ ภูมิ เพชรโสภณสกุล

เทรนด์เรื่อง Traceability ในสินค้าประเภทอาหารสดนั้นเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจเรื่องอาหารปลอดภัย ซึ่งถ้าแปลตรงตัว Traceability ก็คือความสามารถในการสอบทานกลับไปถึงที่มาได้ว่า อาหารที่เราซื้อมานั้นมีแหล่งผลิตจากที่ไหน ใครเป็นคนปลูกหรือเลี้ยง และมีการขนส่งมาจำหน่ายที่ไหนต่อจากนั้น

ความสามารถในสอบทานกลับนี้เป็นระบบที่ทำให้เกิดความโปร่งใส เมื่อผู้บริโภคสามารถตรวจสอบกลับไปถึงแหล่งผลิตได้ก็จะเกิดความมั่นใจถึงคุณภาพและความสดของอาหาร รวมถึงเป็นฐานข้อมูลที่ทำให้สามารถตรวจสอบผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากอาหารนั้นได้ด้วย เช่น ยิ่งอาหารนั้นผลิตจากประเทศที่อยู่ไกลจากผู้บริโภค และต้องขนส่งมาไกลเท่าไหร่ การใช้พลังงานระหว่างการปลูก แปรรูป และขนส่งมาถึงจุดขายก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ในประเทศไทยมีผู้ผลิตอาหารและร้านอาหารที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย เช่น Patom Organic Cafe คาเฟ่ออร์แกนิกใจกลางทองหล่อ ที่มีการแปะภาพที่ถ่ายจากแหล่งซื้อวัตถุดิบของร้านเอาไว้ใกล้กับจุดชำระเงินเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของอาหารที่ร้านเสิร์ฟให้ลูกค้า หรือพะลัง คาเฟ่น้ำผักผลไม้สกัดเย็นที่เน้นใช้วัตถุดิบออร์แกนิกตามฤดูกาล ที่ซื้อจากไร่สวนของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดเชียงรายหรือพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น

แต่แหล่งอาหารที่อยู่คู่กับชุมชนล่ะ… มีการทำงานในประเด็น Traceability ไปถึงไหนกันบ้างแล้ว?

เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามนั้น วันนี้เราได้แอบไปเยือนตลาดใหม่ทุ่งครุ พูดคุยกับผู้จัดการตลาดและพ่อค้าแม่ค้าในตลาด เพื่อดูว่าพวกเขามีการทำงานกับประเด็นนี้อย่างไรบ้าง

ตลาดใหม่ทุ่งครุที่มีอายุครบ 22 ปีในปีนี้ เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่อยู่คู่กับชุมชนมายาวนาน
ทางเดินภายในตลาดกว้างขวาง สะอาด และมีร้านรวงมากกว่า 500 ร้าน
บริเวณแผงขายเนื้อสดและอาหารทะเลที่มีการจัดการทางน้ำอย่างเรียบร้อย
แผงผักสดในตลาดที่สด สะอาด เต็มไปด้วยผักหลากสีสัน

จากการได้พูดคุยกับคุณปริญญา อามินเซ็น ผู้จัดการตลาดใหม่ทุ่งครุ เราจึงได้ทราบว่าตลาดใหม่ทุ่งครุได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 5 ตลาดนำร่องของโครงการ Scan Me ภายใต้นโยบายของกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยโครงการมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้บริโภคและพ่อค้าแม่ค้าตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของอาหารได้ จึงได้ริเริ่มใช้ระบบการแสกน QR code เพื่อดูข้อมูลผู้ขายและข้อมูลสินค้ากับร้านค้าในตลาด

คุณปริญญา อามินเซ็น ผู้จัดการตลาดและผู้ให้ข้อมูล

โดยแผงขายอาหารสดเช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว อาหารทะเล และผักสด เป็นกลุ่มร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ละร้านจะได้รับป้าย QR code ของตนเองที่เชื่อมกับฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ และต้องติดป้ายเหล่านี้ไว้ที่หน้าแผงเสมอ ระยะหลังเริ่มขยายผลมาถึงร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารปรุงสุกภายในตลาดด้วย

คุณปริญญา เล่าให้เราฟังว่า ลูกค้าของตลาดมีความตื่นเต้นกับโครงการ Scan Me มากในช่วงเริ่มต้น เพราะเป็นเรื่องใหม่ ในขณะนั้นจะยังไม่คุ้นชินกับการแสกน QR code กันมากนัก แต่ก็มีการตื่นตัวและทดลองใช้กันอยู่ระยะหนึ่ง 

เมื่อเราได้ลองแสกน QR code ดูแล้ว เราก็จะได้เห็นหน้าเว็บไซต์ที่ระบุชื่อผู้ขายเจ้าของแผงนั้นๆ ในตลาด รวมถึงมีข้อมูลแหล่งที่มาของอาหารว่าซื้อมาจากแหล่งใด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตรวจสอบคุณภาพ และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแม่ค้าในตลาดด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เราก็พบว่ามีข้อจำกัดของโครงการบางอย่างที่ทำให้ข้อมูลบนเว็บไซต์อาจไม่ได้เป็นข้อมูลอัพเดทล่าสุด รวมถึงร้านค้าบางร้านซึ่งเป็นร้านค้าใหม่ และมาเปิดขายของหลังจากช่วงการดำเนินการของโครงการดังกล่าวก็อาจไม่ได้ถูกรวมเอาไว้ในฐานข้อมูล

จากกรณีของตลาดใหม่ทุ่งครุจะเห็นได้ว่าประเด็น Traceabilty ในอาหารนั้นเป็นที่สนใจมานานพอสมควรแล้ว และมีนโยบายดำเนินการอยู่บ้าง แต่น่าเสียดายที่อาจไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่อง และด้วยข้อจำกัดในการทำงานของภาครัฐ ทำให้ยังขาดความต่อเนื่องในจัดการฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

คุณปริญญา ตระหนักถึงข้อจำกัดดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่เขาก็ยังมีความหวังและฝากถึงผู้ที่มีอำนาจในการจัดการประเด็นนี้ว่า อยากให้มีการดำเนินการโครงการนี้ให้ต่อเนื่องมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพมหานครและตลาดสดทั่วประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ ทั้งในการควบคุมคุณภาพของร้านค้าในตลาดเอง และในการคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

เรื่องโดย

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล