คนช่างเลือก

ดอนแร่ หมูหลุมปลอดยาปฏิชีวนะ

แชร์

527

527

ข่าวคราวการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์ และพบว่าเมื่อตกค้างในเนื้อวัตว์และผู้บริโภคได้รับเข้าไปต่อเนื่องแม้จะในปริมาณไม่สูงแต่ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว ทำให้เกิดภาวะเชื้อโรคดื้อยา อย่างที่นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็เคยสุ่มตรวจยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อหมู และข่าวคราวการพบเชื้อโรคที่ยังไม่มียาฆ่าเชื้อตัวไหนกำจัดได้ หรือกระทั่งแนวโน้มการเสียชีวิตเฉียบพลันจากการติดเชื้อในกระแสเลือดหรืออื่นๆ  

สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคเนื้อหมูที่ปลอดภัยก็มีผู้ผลิตที่หันมาเลี้ยงหมูโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้น เช่นที่ตำบลดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี มีกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงหมูหลุมดอนแร่ ที่เรามีโอกาสได้มาเยี่ยมและทำความรู้จักว่าหมูหลุมนั้นต่างจากหมูที่เลี้ยงแบบทั่วไปอย่างไร 

พี่สุพจน์ สิงห์โตศรี ประธานกลุ่มเกษตกรเลี้ยงหมูหลุม ต.ดอนแร่ เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเป็นสัตวบาลในฟาร์มขนาดใหญ่ คอยตรวจตราว่าหมูตัวไหน มีอาการป่วยอย่างไร และทำสัญลักษณ์ที่ตัวหมูเพื่อจ่ายยาตามอาการ นอกจากยารักษาโรคแล้ว ยังมีการให้สารเร่งเนื้อแดง เร่งโต และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จนมีโอกาศได้รู้จักการเลี้ยงหมูด้วยระบบชีวภาพที่เป็นความรู้จากชาวเกาหลีชื่ออาจารย์โช ฮาน คิว ที่คิดค้นทดลองมากว่า 50 ปี นำเข้ามาใช้ในเมืองไทยโดยอาจารย์โชคชัย สารกิจ ศูนย์เรียนรู้พัฒนายั่งยืนภาคเหนือ จ.เชียงราย จึงมีความคิดว่าจะทำฟาร์มหมูของตัวเองที่เลี้ยงหมูโดยไม่ใช้สารเคมี

โรงเรือนปศุสัตว์ทั่วไปมักเทพื้นซีเมนต์ ที่ดูเหมือนจะทำความสะอาดง่าย แต่ความจริงแล้วต้องใช้ทั้งแรงงานและน้ำจำนวนมาก และขัดกับสภาพแวดล้อมที่หมูชอบ เพราะพื้นที่แข็งทำให้เล็บเท้าหมูฉีกขาด อักเสบและเป็นทางเข้าของเชื้อโรคต่างๆ เมื่ออากาศร้อนพื้นซีเมนต์ที่แข็ง ชื้นแฉะ เกิดแก๊สและความร้อน จะทำให้หมูเครียด กัดกันจนเกิดบาดแผล 

โรงเรือนหมูหลุม

ฟาร์มหมูหลุมไม่เทพื้นซีเมนต์ เพียงแต่ทำโรงเรือนและคอกบนพื้นดิน อาจจะขุดหรือไม่ขุดหลุมก็ได้ เมื่อจะเริ่มขุนหมูจึงใช้แกลบเป็นวัสดุรองพื้น แกลบจะทำหน้าที่ดูดซับความชื้นของเสียต่างๆ ลดการเกิดแก๊สจากการสะสมของเสีย พื้นแกลบนุ่มเดินสบายเท้าทำให้ไม่มีปัญหาเล็บเท้าฉีกขาด หมูชอบขุดคุ้ยดินที่เย็นสบาย และฟาร์มหมูหลุมพี่สุพจน์เลี้ยงไม่แออัด แม้หมูที่เลี้ยงจะไม่ได้ตัดเล็บ ตัดเขี้ยว ตัดหาง ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากหมูอารมณ์ดี นอกจากนั้นไม่ต้องใช้แรงงานและน้ำจำนวนมากในการทำความสะอาดโรงเรือน แกลบที่ใช้รองพื้นเมื่อหมูอายุครบกำหนด ยังได้ขายเป็นปุ๋ยคอกอีกด้วย ซึ่งขายดียิ่งกว่าหมูก็ว่าได้ เมื่อเราไปเยี่ยมฟาร็มพี่สุพจน์ ไม่มีกลิ่นเหม็นเลยเราจะได้กลิ่นเมื่อเข้าไปในคอกเท่านั้น สภาพแวดล้อมโดยรอบแห้งสะอาด ไม่มีสิ่งปฏิกูลให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค 

อาหารหมูหลุม

อาหารที่ใช้เลี้ยงหมูหลุมนอกจากอาหารข้นซึ่งมีวัตถุดิบคล้ายหัวอาหารแล้ว ยังต้องให้อาหารหมักด้วย อาหารหมักคือการนำหยวกกล้วยหมักกับน้ำตาลและเกลือหมักไว้ 7 วัน การผลิตอาหารข้นและอาหารหมักเองทั้งหมด สามารถลดต้นทุนค่าหัวอาหาร ได้ถึง 1,000 บาท/ตัวทีเดียว วัตถุดิบที่นำมาผสมเป็นอาหารสำหรับฟาร์มของสมาชิกกลุ่มดอนแร่นั้น ต้องคัดเลือกว่ามาจากกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี อย่างเช่นรำข้าว ก็สั่งซื้อมาจากกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ จ.สุรินทร์ เป็นต้น 

ยาหมูหลุม

ฟาร์มหมูหลุมใช้ระบบชีวภาพในการจัดการสภาพแวดล้อม แม้เป็นฟาร์มแบบเปิด ก็แทบไม่มีปัญหาการติดเชื้อ จนไม่จำเป็นต้องมีระบพ่น/จุ่มยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงเรือ ไม่ต้องเปลี่ยนชุดเข้าโรงเรือน แต่ใช้การฉีดพ่นจุลินทรีย์ที่พื้นคอกและตัวหมูทุก 7 วัน และใช้น้ำหมักชีวภาพผสมน้ำให้หมูกิน เมื่อมีอาการป่วยก็รักษาตามอาการโดยการใช้ยาสมุนไพร เช่น ท้องเสีย ให้กิน กล้วยดิบ หยวกกล้วย เป็นหวัด เป็นไข้ ใช้ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น ถ้าเกิดอาการหนักอาจจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นซึ่งน้อยมากก ถ้าเป็นอาการที่อาจระบาดก็จำเป็นต้องมีการแยกหมูป่วยออกจากโรงเรือน

หมูหลุมดอนแร่ดียังไง

หมูหลุมที่อารมณ์ดี มักจะใช้จมูกขุดค้นพื้นคอกอย่างมีความสุข ตัวสวยผิวสวย อุ้งเท้านูน เล็บยาวไม่ฉีก หมูที่ดีจะผลิตเนื้อหมูที่มีคุณภาพสีชมพู นุ่ม มีเนื้อแดงเกิน 30% ไม่เหม็นคาว และที่แน่ๆ ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค พี่สุพจน์ยังแนะนำเราอีกว่ามันหมูที่ดีต้องเป็นสีขาว ถ้าสีออกไปทางเหลืองแสดงว่ายังมีสารเคมีหรือยารักษาโรคตกค้างปนเปื้อน และบริเวณที่มักฉีดยาก็คือต้นคอใครชอบกินคอหมูย่างต้องรู้จักเลือก

หาซื้อได้ที่ไหน

นอกจากที่ตลาดวิถีธรรมชาติ อ.เมือง จ.ราชบุรี ทุกวันศุกร์ 6.00-12.00 น. ซึ่งพี่สุพจน์จะมาเปิดร้านขายประจำแล้ว ผู้บริโภคที่อยู่ใกล้อ.สามพราน จ.นครปฐม สามารถซื้อได้ที่ ตลาดสุขใจ  สวนสามพราน ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ 8.00-16.00 น. นอกจากนั้นแล้วสามารถสั่งซื้อได้ที่พี่สุพจน์ ไม่มีขั้นต่ำเพียงแต่ต้องจ่ายค่าขนส่งเองเท่านั้น

หรือเกษตรกรที่สนใจเรียนรู้การเลี้ยงหมูหลุมแบบชีวภาพ ทางศูนย์สร้างสุขตำบลดอนแร่ก็ยินดีถ่ายทอดความรู้ แบบไม่มีหมกเม็ดเลยทีเดียว ด้วยอยากจะให้เกษตรกรได้ลดต้นทุน ผู้บริโภคมีหมูคุณภาพดีกิน

เรื่องโดย

แก้วตา ธัมอิน

คนทำงานณรรงค์เรื่องอาหารการกิน ที่อยากลองทำอาหารทุกอย่างที่ชอบกิน และโพสต์อวดชาวโลก 555