บ้านๆแบรนด์

ปัน(กัน)ปลูก

แชร์

531

531

จุดเริ่มต้นของการส่งต่อเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต

ปันปลูก เกิดขึ้นในฐานะของการส่งต่อเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต

เพื่อให้คนสามารถพึ่งตัวเองได้จริง ๆ และมันจะกลายเป็นทางรอดที่ยั่งยืน – นั่นเป็นสิ่งที่พี่แอ๊ด เสาวนีย์ สุทธิชล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘ปันปลูก’ พยายามทำอยู่เพราะหลังจากทำเรื่องเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านมานานเธอก็เข้าใจได้ว่า ‘เมล็ดพันธุ์คือต้นทางของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร’

เมล็ดพันธุ์คือตัวบ่มเพาะสิ่งที่ทำให้เรามีอยู่มีกิน ถ้าเราฝากปากท้องของเราไว้กับคนอื่นวันหนึ่งที่เจอวิกฤตใหญ่เราจะจัดการมันไม่ได้ ดังนั้นมันต้องอยู่ในมือเราให้ได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

หนึ่งในหลายเรื่องที่เราต้องทำเพื่อออกแบบชีวิต คือ เรื่องอาหาร พี่แอ๊ดอธิบายว่าคนส่วนใหญ่มักรู้สึกว่าเรื่องราวของเมล็ดพันธุ์เป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่อาหารทุกจานที่เรากินล้วนเกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดแต่โดยปกติเราไม่เคยเชื่อมโยงกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบเลย

เราตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่าผักคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง มะเขือเหล่านี้ถูกส่งมาจากที่ไหน?, ทั้งที่ต้นกำเนิดของผักเหล่านี้ก็คือเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นหากเราสามารถถือครองและเข้าถึงปัจจัยด้านอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพอย่างเมล็ดพันธุ์ได้ มันจะกลายเป็นแรงหนุนเสริมให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น

“เราพบว่าเมล็ดพันธุ์ที่ขายตามตลาดมันถูกนำไปเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นหมัน เก็บต่อไม่ได้ และอ่อนแอแต่ถ้าเป็นชาวบ้านและชุมชนเองจะเริ่มต้นจากการคิดว่าจะทำอย่างไรให้สายพันธุ์แข็งแรงและเติบโตได้ดีในทุกสภาพ นี่คือคำตอบว่าเรามุ่งให้สายพันธุ์แข็งแรง”

ชาวบ้านและชุมชนที่ดูแลรักษาเมล็ดพันธุ์จึงมีการคัดเมล็ดพันธุ์กันทุกปีเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ที่และแข็งแรง ก่อนชาวบ้านจะพบว่าพวกเขาเพียงกลุ่มเดียว – คนเดียวคงไม่สามารถดูแลเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดนั้นได้แต่ต้องส่งไปให้คนอื่นช่วยดูแลด้วย

“สมมติวันหนึ่งที่มันเกิดน้ำท่วมหรือภัยพิบัติ เมล็ดพันธุ์จะได้ไม่สูญหายดังนั้นมันต้องกระจายไปหลาย ๆ ที่เพื่อบริหารความเสี่ยงที่เมล็ดพันธุ์จะสูญหาย เราเลยจำเป็นต้องกระจายออกไป”

พี่แอ๊ดอธิบายว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ แข็งแรง ปลูกต่อได้ และตรงรสปากคน เช่น ถ้าพูดถึงเมล็ดพันธุ์ภาคใต้ คนก็มักนึกถึง ลูกเขืออ้อร้อ ที่ใช้สำหรับแกงเคยปลา หรือ พริกขี้หนู ที่มีรสเผ็ดร้อนซึ่งจะได้รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

การรักษาฐานเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เราขยับไปต่อเรื่องอื่นได้ แต่ถ้าเราไม่รักษาฐานตรงนี้ไว้ วันหนึ่งเราก็ต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นหมัน ไม่ทนโรคหรืออาจจะใส่ยา

สุดท้ายสุขภาพเราจะฝากไว้ที่โรงพยาบาลหรือฝากไว้ที่ตัวเอง เราเลือกได้, พี่แอ๊ดบอก

ดังนั้นเพื่อให้คนสามารถพึ่งตัวเองได้พี่แอ๊ดจึงอยากส่งต่อเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ให้กับคนอื่น ๆ แต่จากการทำงานเรื่องเมล็ดพันธุ์มานานกว่า 4 ปี เธอพบปัญหาของคนที่นำเมล็ดพันธุ์ไปนั้นมี 3 อย่าง

หนึ่ง ไม่ได้ลงดิน

สอง ปลูกไม่เป็น

สาม ปลูกแล้วแต่ไม่งอก

ในขณะที่คนเมืองเจอกับปัญหาเรื่องพื้นที่จำกัดในการปลูก เธอจึงพัฒนาบรรจุภัณฑ์เล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งขึ้นมา ภายใต้โจทย์ ปลูกได้ ปลูกง่าย ปลูกแล้วโตเลย แม้ในเนื้อที่จำกัดและมันถูกออกแบบมาเพื่อเป็น ‘ชุดพร้อมปลูก’ ในชื่อ ปันปลูก

“ปันปลูกคือการมองหาคนหน้าใหม่ที่พร้อมจะเรียนรู้และลงมือทำ เราจะส่งชุดพร้อมปลูกทั้งดินและเมล็ดพันธุ์ไปให้”

เมล็ดพันธุ์ปันปลูกนั้นก็มาจากการเก็บรักษาโดยตัวพี่แอ๊ดและเครือข่ายเอง และล้วนแต่เป็นเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่นทั้งหมด การเก็บเมล็ดพันธุ์มันเริ่มมาจากการที่เราคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ครั้งแรก

“เราต้องรู้ที่มาของเมล็ดพันธุ์ว่ามันเป็นหมันหรือเปล่า ใช้สารเคมีหรือเปล่า ถ้าใช้เราจะไม่เอาหรือเป็นหมันเราจะไม่ใช้เลยเพราะมันส่งต่อไม่ได้”

พี่แอ๊ดบอกว่าขั้นตอนการเตรียมเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญเริ่มตั้งแต่ขั้นแรก จนมาถึงขั้นตอนการปลูกเมล็ดพันธุ์ซึ่งต้องนำมาเพาะและแช่กระตุ้นการงอกก่อนเพาะลงในดินพร้อมปลูก พอมันงอกเป็นต้นกล้าก็ลงปลูกด้วยการรองก้นดิน นี่คือลักษณะง่าย ๆ โดยทั่วไปของการปลูกต้นกล้าเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์

“ส่วนหนึ่งเราก็กันไว้กินแต่พอรุ่น 2 – 3 เราก็ต้องไว้เก็บไว้ทำพันธุ์ สำคัญคือ พันธุ์ที่เราเลือกต้องเป็นต้นที่แข็งแรง ดก ตรงตามลักษณะเดิม และให้ผลผลิตที่คุ้มค่ามันจะเป็นแม่พันธุ์ที่ดีต่อ”

พี่แอ๊ดยกตัวอย่างการเก็บเมล็ดพันธุ์ของมะเขือโดยปล่อยให้มันแก่คาต้นก่อนนำมาบ่มประมาณ 10 วัน ก่อนแกะเอาเมล็ดนำไปแช่น้ำ 1-2 คืนแล้วนำไปผึ่งลมในที่ ๆ แดดไม่แรงมาก สุดท้ายนำไปสู่เรื่องการเก็บลงสู่ขวดหรือซองซิปพร้อมส่งต่อ

“ปันปลูกคือการที่เราคิดว่าจะทำยังไงให้เมล็ดพันธุ์มันดูน่าหยิบ น่าจับ น่าปลูก น่านำไปส่งต่อ เราเลยคิดแพ็คเกจเล็ก ๆ ที่เรียกว่าชุดพร้อมปลูกโดยตัวบรรจุภัณฑ์สามารถใช้เป็นกระถางได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อเพิ่ม พร้อมมีคู่มือการปลูกของเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด รวมถึงสมุดบันทึกสังเกตการณ์เติบโตของเมล็ดพันธุ์อีกด้วย”

ที่สำคัญคือการสื่อสารกันโดยตรงระหว่างผู้รับเมล็ดพันธุ์และพี่แอ๊ดซึ่งจะคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยให้แนะนำและค่อย ๆ แก้ปัญหาไปด้วยกัน เพื่อให้ปลายทางสิ่งที่เขาบันทึกหรือจดจำได้ จะกลายเป็นองค์ความรู้และคู่มือที่เขาจะสามารถนำไปใช้เพื่อพึ่งตัวเองได้จริง ๆ รวมถึงการส่งต่อความรู้ให้คนอื่นด้วย

เพราะเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราอยากเห็นวันนี้ไม่ใช่แค่เราอยากเห็นผลิตภัณฑ์ของเราเติบโต แต่เราอยากเห็นผู้บริโภคของเราแข็งแรงและเติบโตไปด้วยกัน

วันนี้ปันปลูกเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น พี่แอ๊ดยอมรับว่ามันยังคงมีข้อจำกัดที่เธอเองก็อยากจะก้าวผ่าน คือ การอยากให้ปันปลูกครอบคลุมถึงต้นไม้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่พืชผักแต่รวมถึงผักยืนต้น ต้นไม้หายากของท้องถิ่นเพื่อให้คนรักต้นไม้ได้มีโอกาสเปิดกล่องแล้วปลูกได้เช่นเดียวกัน

อีกโจทย์สำคัญเพื่อให้ปันปลูกอยู่รอดได้ นั่นคือการทำให้ปันปลูกเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรมเพราะสิ่งที่อยู่รอดได้มันต้องกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคน

“เราอยากให้ปันปลูกเชื่อมโยงเข้ากับทุกเทศกาล ไม่ว่าจะงานแต่งงานบวชหรือแม้แต่งานศพเอง แทนที่จะให้พวงหรีดที่เสื่อมสภาพแล้วเป็นขยะ แต่ให้เป็นต้นไม้ที่เป็นกระถางซึ่งมันพร้อมจะโตได้ เพื่อสะท้อนว่าในขณะที่อีกคนวายชนม์แต่มีอีกสิ่งเติบโตได้ นี่จะเป็นการดูแลคนที่จากไปขณะคนที่ยังอยู่ก็ช่วยโลกได้”

ทั้งหมดนี้มันคือการปล่อยให้เมล็ดพันธุ์ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มรูปแบบ, พี่แอ๊ดปิดท้าย

คลิปผลิตภัณฑ์ ปัน(กัน)ปลูก

เรื่องโดย

กินเปลี่ยนโลก ทีม

ทีมงานที่ร่วมสร้างวิถีแห่งการกิน เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก เรากินทุกวัน เราเปลี่ยนโลกทุกวัน