บ้านๆแบรนด์

“ชาเชียงดา” จาก “ฮักกรีน”

แชร์

562

562

หญิงชายสูงวัยหอบผักหลากหลายชนิดแยกเป็นมัด ๆ มาอย่างดี ทั้งปั่นจักรยานบ้าง นั่งมอเตอร์ไซค์มาบ้าง หรือแม้แต่เดินเท้าเข้ามาที่บริเวณอาคารเรียนเก่าโรงเรียนบ้านกว้าว เพื่อนำผักชนิดต่าง ๆ รอบ ๆ บ้านของตัวเองมารวมกันก่อนจะมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ ๆ อาสานำผักของย่ายายไปขายในตัวเมืองลำปาง

 นี่คือกิจกรรมสร้างรายได้ของกลุ่มฮักน้ำจาง บ้านนากว้าว ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ที่นี่คือชุมชนที่เริ่มต้นยกระดับความเป็นอยู่ด้วยการมุ่งสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผักท้องถิ่น กินตามฤดูกาล มานานกว่า 15 ปี โดยเริ่มจากสมาชิกแค่ 5 ครัวเรือน ปัจจุบันขยายไปสู่ความร่วมมือของคนในชุมชนกว่า 80 ครัวเรือน ช่วยยกระดับผลผลิตผ่านคนรุ่นใหม่ ภายใต้ชื่อ “กลุ่มฮักกรีน” ที่ขับเคลื่อนด้านการตลาดแทนพ่อแม่ที่อายุมากขึ้นทุกวัน   

เปรมศักดิ์ สุริวงศ์ใย เขาคือหนึ่งในลูกหลานของกลุ่ม 5 ครอบครัวที่ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มฮักน้ำจาง จนกลุ่มสามารถเดินไปข้างหน้าด้วยการปลูกผักอินทรีย์ขายให้กับชาวเมืองลำปางเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งในระดับหนึ่งที่มีจุดเริ่มต้นจากตัวชาวบ้านเอง   เปรมศักดิ์ เขาคือคนที่เคยออกจากหมู่บ้านไปทำงานมนุษย์เงินเดือนอยู่ในเมืองใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เขาเชื่อว่าการทำงานรับเงินเดือนอาจไม่ยั่งยืนจึงวางแผนกลับบ้านเพื่อต่อยอดจากรุ่นพ่อแม่ที่ทำเอาไว้

เป็นระยะเวลา 3 ปีแล้วที่ เปรมศักดิ์ กลับบ้านชวนลูกหลานคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านที่ต่างเคยออกไปผจญโลกในเมืองใหญ่แต่มีแนวคิดเดียวกันกลับมาตั้งกลุ่ม “ฮักกรีน” แนวคิดคือต่อยอดทำการตลาดให้กับกลุ่มฮักน้ำจาง “เราไม่จำเป็นต้องปลูกเก่งเพราะเรามีกลุ่มคนที่ชำนาญเรื่องการเพาะปลูกอยู่แล้วนั่นคือรุ่นพ่อแม่ที่พวกเขาทำการเกษตรมาทั้งชีวิต เรากลับมาเพื่อทำอะไรที่แตกต่าง ทำจากสิ่งที่มีอยู่แล้วต่อยอดให้ไปได้ไกลกว่าเดิม ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ปลูกผักข้าง ๆ บ้านพวกเราฮักกรีนจะทำการตลาดหาที่ขายให้ มันก็จะลงตัวเพราะเราสามารถสื่อสารได้คล่องตัวทั้งการติดต่อประสานหน่วยงานรัฐบาล หรือเอกชน งานเอกสาร การสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ พวกเราถนัดทางนี้ เราไม่ได้ตั้งกลุ่มฮักกรีนมาเพื่อชิงดีชิ่งเด่นแต่เป็นการต่อยอดจากผู้ใหญ่ แนวคิดยังคงเดิมแต่เพิ่มเติมรสชาติความเผ็ดร้อนลงไปในทุกกิจกรรมให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนกับการทำงานด้านเกษตรปลอดภัยซึ่งเป็นหัวใจหลักของกลุ่มฮักน้ำจางและฮักกรีน” เปรมศักดิ์ สุริวงศ์ใย กลุ่มฮักกรีนกล่าว

ผู้เฒ่าผู้แก่กลุ่มฮักน้ำจางจะใช้วิธีเก็บผักบางส่วนจากแปลงปลูกเพื่อทำความสะอาด ตั้งแต่ช่วงเย็นก่อนวันที่จะนำมารวมขาย และผักบางชนิดก็จะเก็บตั้งแต่ตี 4-5 ทะยอยเอามาส่งที่กลุ่ม ก่อน 8.00 น.จากนั้นกลุ่มฮักกรีนจะเดินต่อด้วยการนำผักออกไปกระจายขายในจุดต่าง ๆ รอบตัวเมืองลำปาง

สอบถามราคาพืชผักอินทรีย์ก็พบว่ามีแบ่งมาเป็นกำ ๆ แยกชนิดเป็นระเบียบเรียบร้อย ราคาต่อกำก็ไม่แพงมีตั้งแต่ราคา 5 บาท ราคา 10 บาท แพงสุด 20 บาท แล้วแต่ชนิดของผักที่มีมาขายตามฤดูกาล เอาผักใส่ตระกร้าที่เตรียมไว้ให้เอง แยกตามประเภทผักต่าง ๆ และลงบัญชีที่เขียนขึ้นมาง่าย ๆ ในสมุดประจำตัวว่าเอาผักอะไรมาส่งบ้าง ผักทุกมัดจะมีสัญลักษณ์พิเศษเป็นคือใบไม้ชนิดต่าง ๆ แทนตัวบุคคลของตนเองเพื่อให้รู้ว่าถ้าเหลือกลับมาเป็นของใคร เงินที่ได้จากการขายจาก 100% จะถูกหักออก 20% ส่วนนี้จะถูกแบ่งเข้ากลุ่ม 5% หักค่ารถที่เหลือเป็นค่าแรงให้กับคนขาย พวกเขาทำกันแบบนี้ทุกวันทำให้มีรายได้เข้ากระเป๋าทุกวันตั้งแต่ 50-200 บาท โดยไม่ต้องออกไปรับจ้างนอกหมู่บ้าน 

หนึ่งในชนิดผักที่น่าสนใจคือยอด “ผักเชียงดา”ชาวบ้านนำมาขายด้วยในราคากำละเพียง 10 บาท เท่านั้น ผักเชียงดาคือผักพื้นบ้านที่อยู่คู่กับชุมชนมาช้านาน 

ยายลอย สายฟู แกอายุ 66 ปี แกคือหนึ่งในสมาชิกฮักน้ำจาง ที่มีอาชีพเลี้ยงตัวเองด้วยการปลูกผักรอบ ๆ บ้านแกเล่าว่าปลูกผักเชียงดาไว้ติดรั้วบ้านเอาไว้ปรุงอาหาร ได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นต้ม ผัดแกงทอด กินคู่กับสมตำ โดยเชียงดาสายพันธุ์ท้องถิ่นจะปลูกเอาไว้ติดกับต้นไม้ใหญ่ ผักเชียงดาก็จะเลื้อยพันรอบ ๆ ต้นไม้ ไปเรื่อย ๆ ทำให้การเก็บยอดทำได้ยากลำบาก  แต่หลังจากทางกลุ่มฮักกรีนมีการส่งเสริมให้ปลูกผักเชียงดาเพื่อแปรรูปเป็น “ชาเชียงดา”

ก็มีการออกแบบวิธีปลูกผักเชียงดาให้เป็นพุ่มเตี้ย ๆ ทำให้การเก็บเกี่ยวง่ายขึ้น และมีการนำสายพันธุ์ผักเชียงดาที่ถูกพัฒนาแล้ว 2 ชนิดเข้ามาส่งเสริมให้กลุ่มฮักน้ำจางปลูก คือพันธุ์เบอร์ 4 กับเบอร์ 6  

ยายลอยเองก็ปลูกผักเชียงดา ทั้งสายพันธุ์พื้นบ้านและสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาแล้วเอาไว้ข้าง ๆ บ้านเกือบ ๆ 100 ต้น เพื่อเก็บยอดขายเป็นผักปลอดสารพิษ และเก็บใบส่งให้กับกลุ่มฮักกรีนเพื่อนำไปแปรรูปเป็นชาเชียงดา ขณะเดียวกัน

ยายลอยก็ออกแบบทำขนมเส้นหรือขนมจีนสูตรโบราณแล้วใส่ผงเชียงดาเข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มความแปลกใหม่ให้กับเมนูขนมจีน เพื่อขายให้กับกลุ่มคนรักสุขภาพ เพราะผักเชียงดามีคุณสมบัติที่ดีต่อร่างกายโดยเฉพาะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

ข้อมูลจากหนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก)  เกี่ยวกับผักเชียงดา พบว่ามีข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักเชียงดามีสารสำคัญ ได้แก่ สาร Vioflavonoid สารในกลุ่ม Carotenoid (ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดต้อกระจก) มี Flavonoid, คาเทชิน, โปรแอนโทไซนานิดิน (Proanthocyanidin), มีสารต้านอนุมูลอิสระ คือ Curcumin, Furmeric, เบต้าแคโรทีน, และมีวิตามินซีมากกว่าแคร์รอต

และยังมีข้อมูลจากงานวิจัยการศึกษาผลของผักเชียงดาในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี พบว่า การดื่มชาผักเชียงดาภายใน 15 นาทีหลังจากได้รับสารละลายกลูโคส จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่ไม่ได้ดื่มชาผักเชียงดา ส่วนฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของผักเชียงดาด้วย

ผักเชียงดามี Gymnemic acid (สกัดมาจากส่วนรากและใบของผักเชียงดา) โดยสารชนิดนี้มีลักษณะโครงสร้างเหมือนน้ำตาลกลูโคส จึงเข้าไปจับกับตัวรับที่ลำไส้แทนโมเลกุลของกลูโคส และช่วยสกัดกั้นสารน้ำตาลตัวจริงที่เข้ามาสู่ร่างกายได้ และยังสามารถช่วยควบคุมสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานทั้งชนิดที่พึ่งอินซูลินและชนิดไม่พึ่งอินซูลิน โดยมีรายงานว่า มีผู้ป่วย “บางราย” สามารถรับประทานผักเชียงดาเพียงอย่างเดียวเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยไม่ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบัน เนื่องจากผักชนิดนี้มีฤทธิ์ฟื้นฟูเบต้าเซลล์ของตับอ่อน ที่เป็นอวัยวะช่วยสร้างอินซูลินให้อยู่ในระดับปกติ

จากการทดลองกับสุนัข กระต่าย และหนูที่ทำให้เป็นเบาหวาน พบว่ามีปริมาณอินซูลินเพิ่มขึ้นเมื่อตรวจดูตับอ่อน และยังพบว่า มีปริมาณของเบต้าเซลล์เพิ่มขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าผักเชียงดาสามารถช่วยซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ให้ตับอ่อนได้ ส่วนการศึกษาในมหาวิทยาลัยมัทราส ประเทศอินเดีย ได้ศึกษาผลของผักเชียงดาในหนูทดลองที่ให้สารพิษที่ทำลายเซลล์เบต้าในตับอ่อนของหนู โดยพบว่า หนูที่ได้รับผักเชียงดาทั้งในรูปของสารสกัดและผงแห้ง มีระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาเป็นปกติภายใน 20-60 วัน ระดับอินซูลินกลับมาเป็นปกติ และจำนวนของเบต้าเซลล์ก็เพิ่มขึ้นด้วย

มีการวิจัยในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานที่ใช้อินซูลิน 27 ราย โดยให้กินสารสกัดที่ทำให้บริสุทธิ์ขึ้น 400 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่าปริมาณความต้องการอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานลดลง และในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้ใช้อินซูลิน 22 ราย เมื่อให้สารสกัด 400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 18-20 เดือน ร่วมกับยารักษาเบาหวาน พบว่าปริมาณการใช้ยารักษาเบาหวานลดลง โดยมีผู้ป่วยจำนวน 5 ราย ใน 22 ราย ที่สามารถหยุดให้ยาเบาหวานโดยใช้แต่สารสกัด Gymnema เพียงอย่างเดียว

มีรายงานการทดลองใช้ต้น Gymnema sylvestre ซึ่งเป็นพืชในสกุลเดียวกันกับผักเชียงดาที่มีขึ้นอยู่ในประเทศอินเดีย โดยบริษัทในประเทศญี่ปุ่นได้ผลิตพืชชนิดนี้ออกขายในรูปของยาชงเพื่อรักษาโรคเบาหวาน แต่จากรายงานการทดลองทั้งในคนและสัตว์ ได้แสดงให้เห็นว่า สมุนไพรชนิดนี้สามารถช่วยสร้างและซ่อมแซมเบต้าเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์อินซูลิน

เมื่อปี พ.ศ.2546 นักวิทยาศาสตร์ได้รายงานถึงผลของสารสกัดผักเชียงดาในหนูทดลอง ซึ่งนอกจากจะมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยเพิ่มปริมาณของอินซูลินแล้ว ยังช่วยลดปริมาณของอนุมูลอิสระในกระแสเลือดของหนูทดลองที่เป็นหวานได้อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณของสารกลูต้าไธโอน วิตามินซี และวิตามินอี ในกระแสเลือดของหนูได้อีกด้วย และยังพบว่า สารสกัดดังกล่าวนั้นมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาเบาหวานที่มีชื่อว่า “ไกลเบนคลาไมด์” (glibenclamide)

ด้วยประโยชน์ที่มากมายของผักเชียงดากลุ่มฮักน้ำจางจึงน้ำผักเชียงดามาต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผักพื้นบ้านที่มีปลูกอยู่แทบจะทุกบ้านภายในชุมชนเดิมที จะมีอยู่ 4 สูตรใช้ผักเชียงดามาทำชาแบบ 100 เปอร์เซ็น ปัจจุบันด้วยการหนุนเสริมของไบโอไทย บวกกับแนวคิดใหม่ ๆ จากกลุ่มฮักกรีน ที่คิดต่อจะมีเพิ่มอีก 3 สูตร   

เปรมศักดิ์ บอกว่า หลังจากใบโอไทยพาทีมงานทางกลุ่มฮักกรีนไปเรียนรู้เรื่องการเบลนด์ชา  เราก็มีการมาเช็คเรื่องตลาด เรามาดูว่าคนในสังคม ในชุมชน คนอายุเท่าไรที่มีปัญหาเรื่องของน้ำตาล จากข้อมูลที่เราได้พบว่าไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้นที่เป็นโรคเบาหวานคนอายุน้อย ๆ ก็เป็นโรคนี้ได้  เราเลยกลับมาคิดต่อไปว่าแล้วคนรุ่มใหม่ ๆ ชอบอะไร   ทีมฮักกรีนจึงไปหาข้อมูลตามคาเฟ่ ร้านกาแฟ ว่าวัยรุ่นชอบดื่มอะไร ก็จะมีเรื่องของโกโก้ขึ้นมา  แล้วมาคิดต่อว่างั้นเราจะเอาโกโก้เป็นส่วนหนึ่งในสูตรชา ให้มันได้กลิ่นขึ้นมา แต่ย้ำว่าทุกสูตรจะมีส่วนผสมของผักเชียงดาเข้าไปตามโดสที่มันจะลดน้ำตาลในเลือดได้ซึ่งทุก ๆ ส่วนผสมเราก็ผ่านงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาที่คอยให้การสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการกับทางกลุ่มปริมาณในส่วนผสมจึงพอดีกับความต้องการของร่างกายไม่มากไม่น้อยเกินไป 

สูตรที่ 1.สุโข เหมาะสำหรับตอนเช้า  เชียงดา 1.5 กรัม โกโก้ 1.2 กรัม ฝาง 0.3 กรัม

สูตรที่ 2.สุขัง เหมาะสำหรับกลางวัน เชียงดา 1.5 กรัม ใบเตย 0.9 กรัม มะตูม 0.6 กรัม

สูตรที่ 3.สุขี เหมาะสำหรับกลางคืน เชียงดา 1.5 กรัม คาโมมายล์ 1.2 กรัม ฝาง 0.3 กรัม

ทางกลุ่มนำฝางมาใส่ด้วย ส่วนหนึ่งคือเป็นเรื่องของสี เพราะปัจจุบันหากเครื่องดื่มจะมีความน่าสนใจโดยเฉพาะเรื่องการถ่ายรูป สีสันของฝางก็ดูฉูดฉาดทำให้น่าสนใจมากขึ้น  ส่วนผสมที่กลุ่มฮักกรีนคิดก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของกลิ่น เรื่องของรส โยงไปถึงเรื่องของการจัด ดิสเพย์  เวลาไปออกงาน เพราะทุกอย่างคือการตลาดที่จะช่วยให้เกิดยอดขายที่ดีนี่คืองานของฮักกรีน

ต่อมาทางกลุ่มก็มาเพิ่มชื่อเป็นภาษาอังกฤษหลังจากได้คำแนะนำจากไบโอไทย  เพราะมองถึงอนาคตในการเจริญเติบโตเรื่องของการตลาด เทรนในการจิบชา มันน่าจะมีชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นก็คือ พอเรารู้ว่าอันไหนกินตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนกลางคืน อย่างตอนเช้า สุโข เราใช้คำว่า morning blend ก็ไปคล้องจ้อง จำกันง่าย ๆ โข สุโข กับโกโก้ มันก็ไปด้วยกันได้

ตอนกลางวันสุขัง เราใช้ relax blend สุขัง เท่าที่หาข้อมูลได้ กลุ่มที่จะดื่มชาอายุประมาณ 40 – 45 ขึ้นไป เพราะว่าใสส่วนผสมของ เชียงดา มะตูม ใบเตย เป็นกลุ่มที่ชอบในส่วนของความเป็นไทย อาหารที่เคยกินมา อาจจะเป็นความคุ้นชินของเขา เรื่องของกลิ่น เรื่องของรสชาติ เรื่องของสีสัน สุดท้ายสุขี เราจะใช้คำว่า moon blend  ส่วนผสมจะมี  คาโมมาย ฝาง สีชมพูก็จะสวย ๆหน่อย  เวลาถ่ายรูปสีจะสวย กลิ่นคาโมมายก็จะหอม แล้วยังช่วยในเรื่องของการผ่อนคลายตอนกลางคืน  

กลุ่มฮักกรีนทำการตลาดด้วยการหาแนวคิดใหม่ ๆ มาส่งเสริมคนรุ่นเก่าพร้อม ๆ กับการส่งต่อองค์ความรู้ให้กับเด็ก ๆ เยาวชนในหมู่บ้านไปพร้อม ๆ กัน ด้วยการจัดกิจกรรมในช่วงที่เด็ก ๆ ไม่ได้ไปโรงเรียเพราะสถานการณ์โควิด ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จักผักพื้นบ้านผ่านผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนของกลุ่มฮักน้ำจาง โดยเฉพาะการเรียนรู้ความสำคัญเกี่ยวกับผักพื้นบ้านอย่าง “เชียงดา” ซึ่งถือว่าเป็นผักยืนต้นปลูกครั้งเดียวเก็บกินได้นานนับสิบปี

“พวกเราพยายามยกระดับพืชผักสมุนไพรอบ ๆ ตัวตามทรัพยากรที่มีในหมู่บ้านเพื่อต่อยอดให้ของที่มีอยู่แล้วในระบบนิเวศมีมูลค่าเพิ่มไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมปลอดภัยต่อคนปลูกคนกินและไม่ส่งผลเสียต่อแม่น้ำจางซึ่งเปรียบเหมือนสายเลือดของหมู่บ้าน เป้าหมายใหญ่ของกลุ่มฮักกรีนคือพยายามส่งต่อขยายสิ่งที่กลุ่มฮักน้ำจางทำได้ไปสู่หมู่บ้านชุมชนอื่น ๆ ให้เป็นวงกว้างมากขึ้น” เปรมศักดิ์ สุริวงศ์ใย กลุ่มฮักกรีน

เรื่องโดย

กินเปลี่ยนโลก ทีม

ทีมงานที่ร่วมสร้างวิถีแห่งการกิน เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก เรากินทุกวัน เราเปลี่ยนโลกทุกวัน