บ้านๆแบรนด์

กินดีอยู่ดีที่ “ดอยเติมสุข”

แชร์

825

825

พื้นที่แปลงเกษตรที่ดูจะเหมาะทำที่พักอาศัยเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่า ทำการเกษตรที่ครอบครัวของ ชัยรัตน์ แสงสรทวีศักดิ์ หรือบอย ดอยเติมสุข อายุ 33 ปี บ้านปางเกี๊ยะ ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับจากครอบครัวใหญ่เป็นแปลงมรดกที่ถูกแบ่งมาให้

ลักษณะที่ดินจะเป็นดอยเล็ก ๆ ที่อยู่สูงกว่าแปลงปลูกผักของเพื่อนบ้าน ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่ก็คือเครือญาติของชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) ที่ต่างได้รับการแบ่งสันปันส่วนที่ดินเพื่อทำมาหากิน ที่ดินแปลงนี้เกษตรกรผู้ปลูกผักในหมู่บ้านปางเกี๊ยะ มองเป็นพื้นที่ขาดความอุดมสมบูรณ์เพราะดินไม่ดีมีหินเยอะขาดแร่ธาตุที่สำคัญต่อการเพาะปลูก มิหน่ำซ้ำการทำระบบน้ำยังต้องใช้เครื่องสูบขึ้นที่สูงเพิ่มต้นทุนการผลิตมากขึ้นไปอีก

ในความโชคร้ายแต่กลับเป็นโชคดีของครอบครัวชัยรัตน์ เพราะพื้นที่สูงกว่าแปลงอื่น ๆ ทำให้เขาอยู่ห่างจากการทำเกษตรแบบเคมี แม้พื้นที่จะติดกัน เปรียบที่ดินของครอบครัวชัยรัตน์ ก็เหมือนไข่แดงท่ามกลางดงสารเคมีเลยก็ว่าได้
ชัยรัตน์ เล่าย้อนกลับไปว่าตัวเองและครอบครัวเคยทำเกษตรเคมีใช้สารฉีดพ่นเพื่อกำจัดศัตรูพืชสารกำจัดแมลง ฉีดสัปดาห์ละครั้ง อัดปุ๋ยเคมีเต็มที่ เพื่อให้ผักที่ปลูกได้ผลผลิตมาก ๆ ผักสวยไม่มีแมลงกัดกิน และยิ่งคุณภาพดินไม่เหมาะกับการเพาะปลูกจึงต้องอัดปุ๋ยมากกว่าคนอื่น ๆ ต้นทุนสูงกว่าคนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน แต่ที่กล่าวมายังไม่ใช่จุดเปลี่ยน
เมื่อราว ๆ เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ชัยรัตน์ ได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในการปลูกพืชผัก ทำให้เกิดผมร่วงรุนแรงร่างกายผอมซูบไปพบแพทย์ ก็พบว่าต้นเหตุเกิดจากอาการแพ้สารเคมี ทำให้ ชัยรัตน์ ต้องเปลี่ยนวิถีการเกษตรของตัวเอง
ชัยรัตน์ หาคำตอบผ่านสื่อออนไลน์ และการอ่านหนังสือก็พบว่าตัวเองยังสามารถประกอบอาชีพเพาะปลูกผักและผลไม้เมืองหนาวแบบที่ครอบครัวถนัดได้ แค่เปลี่ยนเป็นการเพาะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด เมื่อได้แนวคิดแล้วแต่วิธีปฏิบัติยังคงเป็นปัญหาหนักอก ชัยรัตน์ จึงหาแหล่งเรียนรู้ที่จะทำเกษตรแบบปลอดภัยต่อตัวเองและครอบครัวเด็กหนุ่มวัย 20 กว่า ๆ ในวันนั้น ลงจากดอยสูงไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ กระทั่งได้แนวทางของตัวเองนำมาทำเกษตรแบบออร์แกนิค พึ่งพิงธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากครอบครัว ซึ่งครอบครัวของชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) เป็นครอบครัวใหญ่มีสมาชิก 14 ชีวิต หากขาดรายได้ก็เหมือนสร้างความยากลำบากในการกินการอยู่ให้กับคนที่บ้านไปด้วย นั่นคือโจทย์หลักคือเปลี่ยนได้แต่ทุกคนในบ้านต้องอิ่มท้อง

ไพโรจน์ แสงสรทวีศักดิ์ พ่อของชัยรัตน์ คือหนึ่งในเกษตรกรที่มีความชำนาญในการปลูกพืชเมืองหนาวแบบเคมี เขาต้องตัดสินใจครั้งใหญ่เมื่อลูกจะเปลี่ยนวิถีเกษตรจากเคมีไปทำอินทรีย์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย เพราะผลผลิตจะได้ไม่มากไม่สวย ไหนตลาดอินทรีย์จะแคบ ทำไปแล้วจะขายใคร จะเอาทุนที่ไหนมาทำเกษตรแบบออร์แกนิค เพราะเกษตรเคมีสามารถแปะโป้งเมล็ดพันธุ์ปุ๋ยยามาก่อนได้ แต่คำถามทั้งหมดก็ถูกเก็บเอาไว้ก่อน เพราะสุขภาพลูกชายก็สำคัญอีกอย่างเขาไว้ใจชัยรัตน์ ลูกชายคนโตซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการเลี้ยงครอบครัวต่อไป จึงสนับสนุนทุกความคิดที่ลูกชายตั้งใจจะเปลี่ยนแปลง
ชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) เริ่มต้นด้วยการตั้งชื่อสวนของเขาว่า “ต้นน้ำออร์แกนิคฟาร์ม” เพราะพื้นที่อยู่ติดกับลำห้วยแม่เกี๊ยะซึ่งเป็นสายน้ำสายสำคัญของชุมชน กว่า 200 หลังคาเรือน 2,800 ชีวิตต้องใช้น้ำจากลำห้วยในการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ชื่อของฟาร์มจึงให้ความสำคัญกับต้นน้ำและการทำเกษตรของตัวเอง

ชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) เขาสะสมเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่มีคุณสมบัติทนต่อสภาพพื้นที่ สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 1,300 เมตร ชัยรัตน์ปลูกผักและผลไม้หลากหลายชนิด ในพื้นที่จำกัด เพื่อให้สามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งปี พร้อมกับทำน้ำหมักจุลินทรีย์บำรุงพืชและน้ำหมักขับไล่แมลง ที่ได้วัตถุดิบจากในพื้นที่ของตัวเอง ใช้มูลสัตว์ที่ได้จากการเลี้ยงแบบอินทรีย์มาใส่บำรุงต้นพืช

ชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) สร้างตัวตนให้คนอื่น ๆ ในสังคมเห็นวิธีการทำเกษตรของตัวเองด้วยการออกจากพื้นที่ไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มผู้ทำออร์แกนิคในแบบเดียวกันอยู่เสมอ กระทั่งเขาคิดว่าจะต้องตั้งชื่อฟาร์มเกษตรให้เป็นตัวตนของตัวเอง จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “ดอยเติมสุข” เป็นชื่อฟาร์มเกษตรออร์แกนิค ที่ไม่ได้มุ่งแต่หารายได้แต่ยังใส่ใจในสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญกับการรักษาต้นน้ำแม่เกี๊ยะซึ่งเป็นต้นทางลำห้วยสาขาหนึ่งของแม่น้ำแม่แจ่ม ที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง การปลูกพืชหารายได้ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหลักในการทำเกษตรของ ชัยรัตน์หรือบอย ดอยเติมสุข

“เราขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ เชิงเกษตรพัฒนา ไม่ใช่ออร์แกนิคเพื่อธุรกิจ มันก็จะต่างออกไป ถ้าเป็นออร์แกนิคเพื่อธุรกิจ คือใช้เมล็ดพันธุ์อะไรก็ได้ เน้นปลูกในโรงเรือนขนาดใหญ่ป้อนให้กับตลาด แต่ของเราเป็นออร์แกนิค ที่ใช้ทุนธรรมชาติ คือเป็นเกษตรที่ยังยืน” บอย ดอยเติมสุขกล่าว

ปี 2562 ชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) ได้พบกับไบโอไทยที่กรุงเทพ ในงานสัมมนาหัวข้อ เพราะอะไรทำไมคนปลูก กับคนกิน ไม่มาเจอกันสักที การจัดสัมนาของไบโอไทยในครั้งนั้น ทำให้ชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) รับรู้ปัญหาว่าเกิดจากตรงไหน ในเมื่อคนปลูกอยากจะขาย คนกินก็อยากจะซื้อแต่ดูเหมือนว่ามันจะไกลกันเหลือเกิน
“ปัญหาอยู่ตรงที่คนทำเกษตร ถ้าบริบทเมื่อก่อนก็คือ หน้าสู้ดิน หลังสู้ฟ้า แล้วเราทำอยู่ในฟาร์มของเรา แล้วเราคิดว่ามันจบแค่นี้ คนกินก็คิดว่าอยู่ที่บ้านแล้วมีของกินดี ๆ มาให้มันขาดห่วงโซ่ตรงกลาง ครั้งนี้ไบโอไทยที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา มีการดึงผู้บริโภคมาพบกับผู้ผลิตโดยตรง จากจุดนั้นจึงเกิดตลาดออนไลน์ ให้เกษตรกรได้สื่อสาร เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต ผ่านคลิปวีดีโอ รูปภาพจากแปลงปลูก ลูกค้าได้ใกล้ชิดผู้ปลูกพูดคุยข้อมูลของผลผลิต ทำให้เกิดการขายแบบไร้ข้อจำกัด เพราะความไว้วางใจในสินค้า จากมือเกษตรกรตัวจริง ปัญหาที่เคยเจอเรื่องปลูกแล้วขายใครจึงหมดไปเพราะผู้บริโภครู้จักกับเราแล้ว” บอย ดอยเติมสุขกล่าว

ชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) เขายังไม่หยุดเรียนรู้ที่จะทำการตลาดให้กับผลผลิตของตัวเอง สินค้าจะขายได้ต้องมีแบรนด์สินค้า ซึ่งทางไบโอไทยได้ช่วยเหลือ ชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) ด้านการแนะนำการออกแบบโลโก้ จึงเป็นที่มาของโลโก้ดอยเติมสุขที่แฝงไว้ซึ่งวิถีวัฒนธรรมของความเป็นชาติพันธุ์ม้งของครอบครัวชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าการเกษตรบนพื้นที่สูงบ้านแม่เกี๊ยะ ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) บอกว่าเจ้าหน้าที่จากไบโอไทย แนะนำให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับ Packaging ที่ทำหน้าที่มากกว่าห่อหุ้มหรือบรรจุสินค้า ให้คิดออกแบบ Packaging ที่เป็นมิตรต่อฟาร์มอินทรีย์ เป็นมิตรต่อผู้บริโภค และที่สำคัญต้องเป็นมิตรกับโลก

“เดิมเราเคยใช้ พลาสติกเต็ม 100 เปอร์เซ็น แล้วเราใช้แบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่มีการวนซ้ำ เราให้ความสำคัญต่อสินค้ามุ่งเพาะปลูกให้ได้สินค้าที่ดีสุด โดยเอาอะไรก็ได้มาห่อให้ถึงปลายทางอย่างปลอดภัยก็พอ แต่เราทิ้งภาระให้กับโลกใบนี้เยอะมาก ๆ Packaging ถูกทิ้งเยอะมาก ๆ จากข้อมูลตรงนี้เรากลับมาคิดว่าอะไรละคือทางออก คือ ถ้าหากเป็นพลาสติก เมื่อห้อหุ่มเสร็จแล้วจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง เช่น เมื่อได้ผลผลิตสตอเบอร์รี่ หากสามารถทำให้ Packaging เป็นกล่องกระดาษก็จะย่อยสะลายได้แต่ก็เปลืองทรัพยากรเพราะใช้ได้ครั้งเดียว แต่ถ้าใช้เป็นกล่องพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ เราต้องทำให้อายุการใช้งานคุ้มค่ามากที่สุดด้วยการใช้ซ้ำ ๆ หลายครั้ง นี่ก็คือสิ่งที่เราทำอยู่ คือผมส่งกล่องพลาสติกให้ลูกค้าแล้ว ลูกค้าเก็บกล่องเอาไว้ หากลูกค้าส่งคืนมาให้ผมใช้บรรจุผลไม้ลูกค้าจะได้โปรโมชั่นพิเศษด้วยการเพิ่มจำนวนผลผลิตอยู่ในกล่อง จะทำให้เกิดการใช้ซ้ำขึ้นมา และเรากำลังใช้วัสดุในธรรมชาติ วัสดุในฟาร์มที่สามารถย่อยสะลายได้ มาคิดขึ้นรูปเป็น Packaging ผมกับตัวแทนของไบโอไทยช่วยกันดูวัสดุจากธรรมชาติรอบตัว อาทิ ซังข้าวโพด ต้นหญ้า ฟางข้าว มาออกแบบห่อหุ้มให้เข้ากับผลผลิต หากเป็นอโวคาโดเราออกแบบเอาไว้ คือใช้ฟางข้าวถักเป็นแผ่นแล้วเอาอโวคาโดวางม้วนด้วยฟางแล้วมัด เป็นลูก ๆ ให้ป็นแท่งยาวแยกแต่ละลูกของอโวคาโดแล้วฟางยังสามารถกันกระแทกได้ด้วย ฟางยังมีประโยชน์ทำให้เกิดความอุ่น ส่งผลให้อโวคาโดสุกง่าย พอลูกค้าจะกินเมื่อไรก็ตัดออกเป็นลูก ๆ ไว้กิน ที่เหลือก็ห้อยอยู่อย่างนั้น ก็เป็นกึ่งประดับ ดูมีสไตร์เก๋ไก๋ สุดท้ายตัวฟางก็สามารถเอาไปเป็นปุ๋ยได้” บอย ดอยเติมสุข

ที่ดอยเติมสุข ระหว่างเดือนมิถุนายน จนถึงต้นเดือนกรกฎาคมสาลี่จะพร้อมเก็บผลผลิต พอสาลี่เสร็จก็กลางเดือนกรกฎาคม จนถึงเปลายเดือนกันยายน ก็จะมีลูกพลับ ถัดจากนั้นเดือนกันยายน พฤศจิกายน ธันวาคม ก็จะมีอโวคาโดให้ได้ลิ้มลอง ในห้วงเวลาเดียวกันระหว่างเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ก็จะมีสตอเบอรี่ที่ปลูกแบบอิงธรรมชาติ เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนก็จะมีลูกพีช ลูกท้อ แล้วก็จะวนมาสาลี่ต่อเรียกได้ว่าที่ดอยเติมสุขจะไม่เคยขาดผลไม้เมืองหนาวเพราะมีให้เก็บผลผลิตได้ทุกช่วงเวลาของปี ในส่วนของผักก็มีปลูกไว้ให้เก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปีเช่นกัน โดยเน้นไปที่พันธุกรรมท้องถิ่น มีทั้งผักที่ปลูก 1 ครั้งสามารถเก็บกินได้ตลอดไป มีพืชสมุนไพรทั่วไป มีผักลงหัว มีผักกินก้าน มีผักกินยอด มีผักกินใบ แล้วก็มีผักกินผล
ชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) บอกว่าเกษตรออร์แกนิคคือการทำเกษตรแบบยั่งยืน วิถีของมันก็คือ ปลูกพืชตามฤดูกาล ปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ใช้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่เกิดการวิวัฒนาการในพื้นที่จะมีความแข็งแรงทนต่อทุกสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลของดอยเติมสุข ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่อื่นที่มีขายตามร้าน ส่วนใหญ่คือพืชตัดต่อยีนต์ให้กลายพันธุ์ นั้นหมายความว่าเกษตรกรเอามาปลูกแล้วไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อได้

เมล็ดพันธุ์ที่ถูกพัฒนามาเพื่อขายต้องกินปุ๋ยกินยาเคมีเท่านั้น เขาถึงจะอยู่รอด อันนั้นคือข้อจำกัด ในการทำผักออร์แกนิค แต่ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นเราจะปล่อยให้พืชเติบโตเป็นไปตามธรรมชาติ 90 เปอร์เซ็นต์ แล้วเราจะไปดูแลเขาแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ใน 10 เปอร์เซ็นต์ นั้น ของผมแทบจะไม่ได้ทำอะไรมากจะมีใส่ปุ๋ยหมักบ้าง

ใส่มูลสัตว์ที่เลี้ยงแบบอินทรีย์บ้าง แต่ไม่ได้พ่นสารชีวพันธุ์เลย มีการกำจัดหญ้าและให้น้ำแค่นั้นเองยอมรับว่าผลผลิตที่ได้จะไม่สวย ไม่ได้จำนวนมาก ๆ แต่ผลผลิตที่เกิดบนดอยเติมสุขทุกชนิดสามารถเก็บกินได้จากต้นเพราะมีความปลอดภัย 100%

ชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) บอกว่าเขาเดินหน้าสร้างสวนออร์แกนิคที่อยู่ในเกษตรนิเวศ ทำเกษตรแบบปล่อยให้พืชเติบโตไปตามระบบนิเวศรอบตัว ทำฟาร์มสเตย์มีที่พักอยู่ในฟาร์มเรียกได้ว่านอนอยู่ท่ามกลางต้นผลไม้หลากหลายชนิดที่สามารถเอื้อมมือไปเด็ดกินได้จากหน้าต่างห้อง แล้วกำลังขยับไปเป็นฟาร์มสคูลพยายามให้เป็นศูนย์เรียนรู้ชวนคนในชุมชน เรียนรู้วิถีชีวิตเรื่องของการทำฟาร์มสเตย์ พยายามขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ เริ่มจากญาติพี่น้องก่อน โดยหวังให้แนวคิดนี้กระจายเต็มพื้นที่บ้านแม่เกี๊ยะแล้วหวังสูงกว่านั้นคืออยากให้เกษตรกรทั้งประเทศทำเกษตรในแบบเดียวกันเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของคนปลูกและคนกิน

ปทิต ปัญญาธนัง อายุ 28 ปี บ้านปางอุ๋ง ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เขาคือคนที่เริ่มเปลี่ยนวิธีทำเกษตร เพราะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากดอยเติมสุข เมื่อราว ๆ 4-5 ปี ก่อนหน้านี้ “ผมเห็นพ่อกับแม่ปลูกกะหล่ำปี ปลูกมะเขือเทศ และปลูกผักอีกหลายชนิด ด้วยวิธีไปใช้เครดิตแปะปุ๋ยยาจากร้านในชุมชนมาก่อนขายผลผลิตได้ค่อยไปจ่ายแต่ก็มีดอกเบี้ยตามมา ผมเห็นพ่อกับแม่ใช้วิธีนี้ตั้งแต่ผมยังเด็กกระทั่งวันนี้ผมอายุ 20 กว่า ๆ แล้วแต่พบว่าพ่อกับแม่ยังเป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์อยู่เลย ผมจึงมองหาทางเลือกใหม่ ๆ พยายามปลดหนี้จากอาชีพเดิม ก็ไปพบกับชัยรัตน์(บอย ดอยเติมสุข) ซึ่งอยู่หมู่บ้านข้าง ๆ เขาทำเกษตรแบบออแกนิคใช้พื้นที่น้อยลงทุนต่ำเพราะไม่ต้องจ่ายค่าปุ๋ยยาและค่าเมล็ดพันธุ์ แต่ผลผลิตมีคนรับซื้อราคาดี จึงไปเรียนรู้แล้วทำตามจนสามารถลดต้นทุนในการเพาะปลูกของตัวเองและถึงแม้ว่าการปลูกแบบอินทรีย์จะได้ผลผลิตไม่เยอะ แต่ต้นทุนก็คือแรงกาย อีกอย่างการขายผลผลิตในแปลงของผมเราจะติดต่อลูกค้าโดยตรงดูแลกันเหมือนญาติสนิทถ่ายภาพขั้นตอนการปลูกการดูแลกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นบอกกันปากต่อปาก ทำให้ผมมีตลาดเป็นของตัวเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ขายผลผลิตเท่าที่มีจนปลดหนี้ให้พ่อกับแม่ได้บางส่วน และยังมีทุนเหลือเปิดร้านขายของเพิ่มได้ด้วย” ปทิต ปัญญาธนัง บ้านปางอุ๋ง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

เรื่องโดย

กินเปลี่ยนโลก ทีม

ทีมงานที่ร่วมสร้างวิถีแห่งการกิน เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก เรากินทุกวัน เราเปลี่ยนโลกทุกวัน