แคอ้าว: เมนูใหม่จากสิ่งที่(ไม่)คุ้นเคย
แชร์
33
แชร์
33
33
นับจากช่วงฤดูหนาวตั้งแต่ปลายปีมาแล้ว มีโอกาสได้เห็นความงดงามของดอกไม้รายทาง ดอกคำฝ้ายที่บานเหลืองสดดอกโตอร่ามตามาจนถึงช่วงก่อนวาเลนไทน์ และในช่วงรอยต่อจากนั้นก็เป็นสีชมพูหวานที่บานสะพรั่งทั้งต้นที่ร่วงหล่นเป็นพรมชมพู ซึ่งจะมีดอกคูนและเหล่าดอกไม้สีม่วงปนขาว เสลา อินทนิน ตะแบก ในช่วงเดือนมีนาคมไปจนหลังสงกรานต์ ก่อนที่จะมีดอกหางนกยูงแดดสดเบ่งบานในปลายฤดูร้อนก่อนที่จะมีเม็ดฝนตกลงมาเพื่อเปลี่ยนบรรดาเหล่าตนไม้รายทางให้กลับมาเขียวสดชื่นอีกครั้ง … ทั้งนี้ต้องไม่อยู่ในเงื่อนไขที่เกินคาดเดาได้ของสภาพดินฟ้าอากาศที่วิปริตแปรปรวน
ในบรรดาดอกไม้ที่เบ่งบานแบบพร่างพรูไปทั้งต้นที่เราคุ้นๆ กันอยู่นี้ ที่ในหมู่บ้านจัดสรรชานเมืองกลับมีดอกแคป่ารวมอยู่ด้วยอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
แค่ป่าหรือแคอ้าว เป็นพืชตระกูลถั่วยืนต้นขนาดใหญ่ที่ฉันไม่เคยรู้จักมาก่อน มันออกดอกโดยที่เราไม่ทันได้เห็นบนต้นโตสูงใหญ่แต่มักร่วงหล่นเกลื่อนในช่วงเช้าๆ … แต่เช้ามืด มีบางวันที่ฉันบังเอิญเห็นบางคนเก็บมันไปแต่ไม่ทันได้ถามทัก จนวันหนึ่งพี่ยามในหมู่บ้านเอาดอกขาวๆ โตๆ มาใส่ตะกร้าหน้าจักรยานของเขา จึงได้รู้ว่าเขาไม่ได้เก็บไปใส่แจกันหากแต่เอาไปกิน และอร่อยซะด้วย
“เกรียง” หมอยาพื้นบ้านที่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร ซึ่งเป็นคนพาฉันไปตระเวนดูผักพื้นบ้านและแจงสรรพคุณและวิธีกินของที่นั่นบอกกับฉันว่าแคอ้าวกินอร่อย มีรสขม ทำให้เจริญอาหาร คนที่กุดชุมนิยมเอาไปลวกจิ้มแจ่วหรือป่น หรือเอาไปหมก ซึ่งละม้ายคล้ายเคียงกับ “นก” เจ้าของไร่ดินดีใจที่ตอนนี้แบ่งเวลาจากงานในฟาร์มอินทรีย์ของตัวเองที่หนองฉาง จ.อุทัยธานี มาช่วยเป็นทีมวิจัยอาหารถั่วพื้นบ้าน เล่าให้ฟังอย่างตื่นเต้นว่าที่บ้านเธอมีการเก็บมาขายในตลาดซึ่งคนนิยมเอาไปหมก เป็นอาหารของชาวลาวเวียงที่นั่น ซึ่งสนนราคาที่ขายเฉพาะดอกแคอ้าวนั้นนับว่าราคาดีพอแรงทีเดียว
สุดท้ายฉันก็ยังไม่ยอมเอาแคอ้าวมาลวกกินลำพังอยู่ดี แต่กลับนึกสนุกที่จะเอารูปและความที่ได้จากนกและเกรียงส่งไปให้เพื่อนๆ ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นเหยื่อทดลองชิมเมนูพิลึกพิลั่น
ที่ตอบกลับมาตรงกันทุกคน คือ “ขม” แต่ “ขมแบบไหน?” เป็นสิ่งที่ท้าทาย
ความขมทำให้นึกไปถึงหลนปลาเค็ม พี่ฝนเตรียมเครื่องปรุงที่ใช้สำหรับหลนปลาเค็มให้ คือ หมูสามชั้นให้ 1 ชิ้น ปลาอินทรีย์เค็ม 1 ชิ้น หัวกะทิคั้นสด 4 ช้อนโต๊ะ หอมแดง 10 หัว กระชาย 4 – 6 ราก พริกสดสีเขียวสีแดง 2 – 3 เม็ด ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากเครื่องหลนคือไข่เป็ด 2 ฟอง กับดอกแคอ้าว
เริ่มแรกเอาดอกแคอ้าวมา บางคนที่เคยกินมันบอกว่าต้องเอาส่วนปลายกลีบดอกออก บางคนว่าไม่ แต่ที่เห็นตรงกันทุกคนคือให้เอาเกสรตัวผู้ออกไป ฉันเลยตัดสินใจเอาส่วนปลายกลีบดอกออก ทั้งนี้เพื่อความสวยงามของรูปสำเร็จของมัน
พอดึงเกสรออกค่อยๆ โดยลากเบาๆ มาทางก้าน ดอกแคอ้าวจึงถูกแปลงกลายเป็นพัด นำไปล้างแล้วทิ้งให้สะเด็ดน้ำ
จากนั้นหันไปแร่เอาส่วนหนังหมูออกแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พอคำ เสร็จแล้วแบ่งชิ้นหมูหั่นออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเอามาสับกับปลาเค็มจนละเอียด พักรอไว้ เตรียมซอยหอมแดง กระชาย และพริกขี้หนูให้เป็นแว่นๆ หยาบๆ รอ
เตรียมผสมเครื่องปรุงโดยตอกไข่เป็ดใส่ลงในชามน้ำกะทิ ตีให้เข้ากันดี แล้วเติมหมูสับกับปลาเค็มและหมูชิ้นลงไป คนให้เข้ากันดี แล้วเติมหอม กระชาย และพริกขี้หนู เคล้าให้เข้ากันดี
ใช้ถาดแบนเป็นภาชนะวางเรียงใบพัดดอกแคแล้วตักเครื่องปรุงที่ผสมแล้วลงไป จากนั้นเอาไปนึ่งด้วยไฟแรง 10 นาทีก็สุกแล้ว
ตื่นเต้นตอนที่มันออกมาให้เห็นหน้าตานี่แหละ น่าตาดีพอใช้ …
ชิมดูจึงรู้ว่าส่วนที่ว่าขมๆ กันนั้นอยู่ที่ก้านดอก ซึ่งรสขมๆ คล้ายฝักถั่วชนิดหนึ่งที่คนอีสานเรียกลิ้นฟ้า แต่ที่บ้านเรียกเพกานั่นเอง
บรรดาผู้ตกเป็นเหยื่อ ต่างว่า อร่อย พร้อมชี้แนะ เช่น ไม่ใส่กะทิก็ได้ , ไม่ใส่ไข่ก็ได้ , ใส่เครื่องปรุงน้อยลงหน่อยในแต่ละคำ(ดอก)
สารพัดคำแนะนำนี้ล้วนปรับไปตามรสของลิ้นที่แต่ละคนต้องการได้ … (หลาย)ทีเดียวเชียวนะเนี่ย
ที่มา : คอลัมน์เรื่องเรียงเคียงจาน ฉลาดซื้อฉบับ 109 มีนาคม 53